Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา

เริ่มโดย ฅนสองเล, 13:50 น. วันที่ 11 06 61

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

ฅนสองเล

"เกษตรรัตภูมิ" วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา สถาบันอาชีวศึกษาด้านเกษตรที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

เกษตรรัตภูมิ หรือชื่ออย่างเป็นทางการในปัจจุบันคือวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา ชาวสงขลาและภาคใต้สมัยก่อนรู้จักสถาบันแห่งนี้เป็นอย่างดี ในอดีตถ้าอยากเรียนเกษตรต้องมาที่นี่เท่านั้นในวันนี้จึงยังมีลูกดงตะเคียนตำนวนมากกระจายอยู่ทั่วสารทิศ เกษตรรัตภูมิ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2468 "พระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์" อุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ทรงเป็นองค์ประสานการจัดตั้งจากป่ารกร้างสู่ศูนย์กลางการศึกษา ข้อมูลของเกษตรรัตภูมิจึงน่าสนใจอย่างยิ่ง     

จุดเริ่มต้น
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา  เริ่มจัดตั้งเมื่อปี พุทธศักราช 2468  เพื่อผลิตครูทางการเกษตรและเพื่อเป็นสถานีทดลองทางกสิกรรมโดยผู้ประสานงานการจัดตั้งคือ  "พระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์" ซึ่งตำแหน่งขณะนั้น เป็น"อุปราชมณฑลปักษ์ใต้"   

ที่ดินอันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยในปัจจุบันนี้  แต่ก่อนเป็นบริเวณป่าหนาทึบเต็มไปด้วยไม้สูงใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 238 ไร่เศษ  เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ชาวบ้านละแวกนี้ไม่กล้าเข้าจับจองโค่นถาง เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งสถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์         ในพุทธศักราช 2466  เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์  อุปราชมณฑลปักษ์ใต้ เสด็จผ่านมาเห็นที่ดินแปลงนี้ร้างอยู่ จึงทรงสอบถามขุนท่าชะมวงมานิต กำนันตำบลท่าชะมวง เมื่อทรงทราบว่าเป็นป่าศักดิ์สิทธิ์จึงขอสิทธิปกครอง แล้วนำกองเสือป่ามณฑลนครศรีธรรมราชมาพักแรม ถากถางสร้างค่ายพักและพลับพลาขึ้น กอปรกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาทั่วราชอาณาจักร สมเด็จพระอุปราช เลยพระราชทานที่ดินแปลงดังกล่าวแก่กระทรวงศึกษาธิการ และจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูมณฑลนครศรีธรรมราชในปีพุทธศักราช 2467  โดยมีขุนวิจารย์จรรยา เป็นครูใหญ่คนแรก

พุทธศักราช 2468 ว่าที่รองอำมาตย์ตรีขุนชนะณรงค์ศึกษากร (ช่วง ชนะณรงค์) มาเป็นครูใหญ่คนต่อมา การศึกษาขณะนั้น เรียกว่าครูมูล สอนหนักไปทางเกษตรกรรม

พุทธศักราช 2473  กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกระทรวงเกษตร เปิดสถานีทดลองกสิกรรมภาคใต้ขึ้นเป็นแห่งแรกในบริเวณที่ดินของโรงเรียน  มีรองอำมาตย์เอกหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (ทองดี  เรศานนท์) เป็นหัวหน้าสถานี จนถึงพุทธศักราช 2475 หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่อีกตำแหน่งหนึ่ง  และขุนณรงค์ชนะศึกษากรณ์ ป็นผู้ช่วยโรงเรียนฝึกหัดครูมูล  มีลักษณะเป็นโรงเรียนเกษตรกรรม

วันที่ 15 พฤษภาคม  พุทธศักราช 2476  รองอำมาตย์เอกหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้เปิดโรงเรียนครูประถมกสิกรรม(ป.ป.ม.)ขึ้นเป็นแห่งแรกในภาคใต้ในสถานศึกษาที่เดียวกัน โดยมีีรองอำมาตย์เอกหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นอาจารย์ใหญ่  ส่วนโรงเรียนฝึกหัดครูมูล เดิมมอบให้รองอำมาตย์ตรีขุนชนะณรงค์ศึกษากร เป็นครูใหญ่โดยเอกเทศ  ปลายพุทธศักราช 2476  ทางราชการได้ย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ไปไว้ที่ ตำบลคอหงส์ (ศูนย์วิจัยการยางสงขลาในปัจจุบัน) จึงเหลือโรงเรียนฝึกหัดครูมูลเพียงอย่างเดียว 

พุทธศักราช 2478 ได้เปิดแผนกฝึกหัดครูประกาศนียบัตร หลักสูตร 2 ปี ขึ้นอีกแผนกหนึ่ง  ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน พุทธศักราช 2479 ได้ย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูมูลไปไว้ที่ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  ดังนั้น จึงเหลือฝึกหัดครูประกาศนียบัตรแผนกเดียว  มีนายเฉลิม  สุขเวช เป็นครูใหญ่

พุทธศักราช 2482 กระทรวงศึกษาธิการปรับปรุงการศึกษาใหม่ ได้สั่งย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตร ไปอยู่ที่ตำบลคอหงส์  อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา แทนโรงเรียนฝึกหัดครูมูลซึ่งถูกยุบเลิกและให้รับนักศึกษาที่จบม.6 เข้าเรียน แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้สมัครเลย  ในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการต้องสั่งปิด  จนกระทั่งนายประภัทร์  หาสิตะพันธ์ มารักษาการตำแหน่งครูใหญ่ จึงรับนักศึกษาประกาศนียบัตรได้อีก  จนถึงวันที่ 5 กันยายน  พุทธศักราช 2482 นายเขษม  พุ่มพวง มารับตำแหน่งครูใหญ่

พุทธศักราช 2485 โรงเรียนต้องปิดไปเพราะสงครามมหาเอเชียบูรพา นายเขษม  พุ่มพวง  ย้ายไปประจำกรมอาชีวศึกษา

พุทธศักราช 2490 นายแอบ แก้วคล้าย ได้รับคำสั่งให้ย้ายมาจากโรงเรียนเกษตรกรรมนครศรีธรรมราช  มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ในการเปิดโรงเรียนเกษตรกรรม โดยใช้หลักสูตร  2 ปี รับนักเรียนที่จบ ป.4 เรียกว่า นักเรียนระดับชั้นต้นแผนกเกษตรกรรม 

พุทธศักราช 2498 ก็งดรับระดับนี้ ขยายมารับนักเรียนที่จบ ม.3  เรียกว่า อาชีวศึกษาตอนปลายแผนกเกษตรกรรม

พุทธศักราช 2507 งดรับอาชีวศึกษาตอนปลายแผนกเกษตรกรรม  แต่ขยายมาเปิดระดับประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ แผนกเกษตรกรรม หลักสูตร 3 ปี

พุทธศักราช 2520 กรมอาชีวศึกษา ได้ยกฐานะจากโรงเรียนเกษตรกรรม ขึ้นเป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมสงขลา เปิดสอนถึงระดับประะกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 

พุทธศักราช 2539  เปลี่ยนชื่อจากวิทยาลัยเกษตรกรรมสงขลา เป็น "วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา" มาจนถึงปัจจุบัน

นับจากจัดตั้งปีพุทธศักราช 2468 จนถึงปัจจุบันปี 2561 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา มีอายุถึง 93 ปี  นับว่าเป็นวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของกองวิทยาลัยเกษตรกรรม กรมอาชีวศึกษา
ที่มา ดงตะเคียน19 http://oknation.nationtv.tv/blog/dongtakien19/2009/03/15/entry-1

ประวัติวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา จากเว็บไซต์สถาบัน http://www.scat.ac.th

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2468 โดยเปิดสอนครั้งแรกระดับครูมูล ต่อมา 2490 ได้เปลี่ยนมารับนักเรียนที่จบ ป.4 เรียกว่านักเรียนชั้นต้นแผนกเกษตร จนถึง พ.ศ.2498 งดรับนักเรียนที่จบ ป.4 และขยายมารับนักเรียนที่จบ ม.3 (ป.7 หรือ ป.6 ในปัจจุบัน) เรียกว่อาชีวตอนปลายแผนกเกษตรกรรม

          พ.ศ.2507 งดรับอาชีวศึกษาตอนปลายแผนกเกษตรกรรม แต่ขยายมาเปิดระดับประโยคมัธยมศึกษาได้ยกฐานะโรงเรียนเกษตรกรรมขึ้นเป็น "วิทยาลัยเกษตรกรรมสงขลา" เปิดสอนถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)

          พ.ศ.2537 กรมอาชีวศึกษามีนโยบายให้เปิดสอนในลักษณะของวิทยาลัยชุมชนและวิทยาลัยฯ ได้รับอนุมัติให้เปิดการสอนในลักษณะวิทยาลัยชุมชนในชื่อ "วิทยาลัยชุมชนลพบุรีราเมศว์" ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาหลากหลายสาขาวิชาและหลายรูปแบบทั้งหลักสูตรปกติและหลักสูตรระยะสั้น โดยหลักสูตรมีความยืดหยุ่นตามความต้องการของชุมชน

          พ.ศ.2539 กรมอาชีวศึกษาให้เปลี่ยนชื่อจากวิทยาลัยเกษตรกรรมสงขลา และวิทยาลัยชุมชนลพบุรีราเมศว์เป็น "วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา" เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพและประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ในสาขาต่าง ๆ ทั้งภาคเกษตรและภาคนอกเกษตร

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา ธงสีประจำสถาบัน สีเขียว ขาว เหลือง ต้นไม้ประจำสถาบัน ตะเคียนทอง ปรัชญาวิทยาลัย "สร้างคนเก่ง ผลิตคนดี มีมาตรฐาน สนองความต้องการสู่ชุมชน" จวบจนถึงปัจจุบันวิทยาลัยแห่งนี้ยังเป็นแหล่งสร้างคนคุณภาพที่ไม่ใช่แค่การเกษตรแต่ยังมีด้านเทคโนโลยีและบริการท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย เกษตรรัตภูมิ จึงเป็นอีกหนึ่งสถาบันแห่งความภาคภูมิใจของชาวรัตภูมิ ชาวสงขลา ในฐานะสถาบันอาชีวศึกษาด้านการเกษตรที่มีคุณภาพในระดับประเทศ ที่นี่คือ ดงตะเคียน

ที่ตั้ง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา
เลขที่ 142 ถนนยนตรการกำธร หมู่ที่ 3 ตำบลท่าชะมวง อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา 90180
โทร. 0-7438-9118  โทรสาร. 0-7438-9118 E-mail address : kaset_sk@hotmail.com Website : http://www.scat.ac.th

ข้อมูล/ภาพ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา ,บล๊อกโอเคเนชั่น ดงตะเคียน19
ต้อม รัตภูมิ รวบรวม/รายงาน
สองเลรีวิว กดติดตามได้ที่
www.facebook.com/songlayreview
www.youtube.com/@Songlayreview
www.tiktok.com/@songlayreview22
รีวิวบ้านบ้าน ข่าวสารเข้มข้น สองเลรีวิว TLP : 0897384215