Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

Menu

Show posts

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Show posts Menu

Messages - ฅนสองเล

#106
วันลูกโหนดสทิงพระ งานประจำปีคู่อำเภอที่จัดมาต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 32 

12 มิถุนายน 2561 อำเภอสทิงพระ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอสทิงพระ จัดงาน "วันลูกโหนด"และของดีเมืองสทิงพระ โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดงาน ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายอำเภอสทิงพระ คณะกรรมการจัดงานวันลูกโหนด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในอำเภอสทิงพระเข้าร่วมในพิธีเปิด ซึ่งการจัดงานครั้งนี้เป็นการจัดงานครั้งที่ 32 โดยเป็นการร่วมคิดร่วมทำของทุกภาคส่วนในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมแบบประชารัฐ เป็นการร่วมอนุรักษ์ และส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมอันเก่าแก่ดั้งเดิม ให้คงอยู่ต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกต้นตาล ให้มีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการท่องเที่ยง โดยยืดแนวปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง

สำหรับงานวันลูกโหนด ครั้งที่ 32 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-20 มิถุนายน 2561 ซึ่งถือเป็นงานประจำปีที่จัดต่อเนื่องยาวงานหนึ่งของจังหวัดสงขลา ภายในงานได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของประชาชนบนคาบสมุทรสทิงพระ อาทิ การจัดนิทรรศการ , การออกร้านจำหน่ายสินค้า , การประกวดผลผลิตจากตาลโตนด , การประกวดขบวนแห่วิถีชีวิต โหนด นา เล , การประกวดธิดาลูกโหนด ,พิธีประกาศเชิดชูเกียรติคนดีศรีลูกโหนด และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย โดยในปีนี้ยังมีการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน ท่องเที่ยวตามรอยหลวงปู่ทวด เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนได้รู้จักกับอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา มากยิ่งขึ้น
#107
"เกษตรรัตภูมิ" วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา สถาบันอาชีวศึกษาด้านเกษตรที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

เกษตรรัตภูมิ หรือชื่ออย่างเป็นทางการในปัจจุบันคือวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา ชาวสงขลาและภาคใต้สมัยก่อนรู้จักสถาบันแห่งนี้เป็นอย่างดี ในอดีตถ้าอยากเรียนเกษตรต้องมาที่นี่เท่านั้นในวันนี้จึงยังมีลูกดงตะเคียนตำนวนมากกระจายอยู่ทั่วสารทิศ เกษตรรัตภูมิ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2468 "พระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์" อุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ทรงเป็นองค์ประสานการจัดตั้งจากป่ารกร้างสู่ศูนย์กลางการศึกษา ข้อมูลของเกษตรรัตภูมิจึงน่าสนใจอย่างยิ่ง     

จุดเริ่มต้น
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา  เริ่มจัดตั้งเมื่อปี พุทธศักราช 2468  เพื่อผลิตครูทางการเกษตรและเพื่อเป็นสถานีทดลองทางกสิกรรมโดยผู้ประสานงานการจัดตั้งคือ  "พระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์" ซึ่งตำแหน่งขณะนั้น เป็น"อุปราชมณฑลปักษ์ใต้"   

ที่ดินอันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยในปัจจุบันนี้  แต่ก่อนเป็นบริเวณป่าหนาทึบเต็มไปด้วยไม้สูงใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 238 ไร่เศษ  เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ชาวบ้านละแวกนี้ไม่กล้าเข้าจับจองโค่นถาง เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งสถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์         ในพุทธศักราช 2466  เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์  อุปราชมณฑลปักษ์ใต้ เสด็จผ่านมาเห็นที่ดินแปลงนี้ร้างอยู่ จึงทรงสอบถามขุนท่าชะมวงมานิต กำนันตำบลท่าชะมวง เมื่อทรงทราบว่าเป็นป่าศักดิ์สิทธิ์จึงขอสิทธิปกครอง แล้วนำกองเสือป่ามณฑลนครศรีธรรมราชมาพักแรม ถากถางสร้างค่ายพักและพลับพลาขึ้น กอปรกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาทั่วราชอาณาจักร สมเด็จพระอุปราช เลยพระราชทานที่ดินแปลงดังกล่าวแก่กระทรวงศึกษาธิการ และจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูมณฑลนครศรีธรรมราชในปีพุทธศักราช 2467  โดยมีขุนวิจารย์จรรยา เป็นครูใหญ่คนแรก

พุทธศักราช 2468 ว่าที่รองอำมาตย์ตรีขุนชนะณรงค์ศึกษากร (ช่วง ชนะณรงค์) มาเป็นครูใหญ่คนต่อมา การศึกษาขณะนั้น เรียกว่าครูมูล สอนหนักไปทางเกษตรกรรม

พุทธศักราช 2473  กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกระทรวงเกษตร เปิดสถานีทดลองกสิกรรมภาคใต้ขึ้นเป็นแห่งแรกในบริเวณที่ดินของโรงเรียน  มีรองอำมาตย์เอกหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (ทองดี  เรศานนท์) เป็นหัวหน้าสถานี จนถึงพุทธศักราช 2475 หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่อีกตำแหน่งหนึ่ง  และขุนณรงค์ชนะศึกษากรณ์ ป็นผู้ช่วยโรงเรียนฝึกหัดครูมูล  มีลักษณะเป็นโรงเรียนเกษตรกรรม

วันที่ 15 พฤษภาคม  พุทธศักราช 2476  รองอำมาตย์เอกหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้เปิดโรงเรียนครูประถมกสิกรรม(ป.ป.ม.)ขึ้นเป็นแห่งแรกในภาคใต้ในสถานศึกษาที่เดียวกัน โดยมีีรองอำมาตย์เอกหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นอาจารย์ใหญ่  ส่วนโรงเรียนฝึกหัดครูมูล เดิมมอบให้รองอำมาตย์ตรีขุนชนะณรงค์ศึกษากร เป็นครูใหญ่โดยเอกเทศ  ปลายพุทธศักราช 2476  ทางราชการได้ย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ไปไว้ที่ ตำบลคอหงส์ (ศูนย์วิจัยการยางสงขลาในปัจจุบัน) จึงเหลือโรงเรียนฝึกหัดครูมูลเพียงอย่างเดียว 

พุทธศักราช 2478 ได้เปิดแผนกฝึกหัดครูประกาศนียบัตร หลักสูตร 2 ปี ขึ้นอีกแผนกหนึ่ง  ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน พุทธศักราช 2479 ได้ย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูมูลไปไว้ที่ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  ดังนั้น จึงเหลือฝึกหัดครูประกาศนียบัตรแผนกเดียว  มีนายเฉลิม  สุขเวช เป็นครูใหญ่

พุทธศักราช 2482 กระทรวงศึกษาธิการปรับปรุงการศึกษาใหม่ ได้สั่งย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตร ไปอยู่ที่ตำบลคอหงส์  อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา แทนโรงเรียนฝึกหัดครูมูลซึ่งถูกยุบเลิกและให้รับนักศึกษาที่จบม.6 เข้าเรียน แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้สมัครเลย  ในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการต้องสั่งปิด  จนกระทั่งนายประภัทร์  หาสิตะพันธ์ มารักษาการตำแหน่งครูใหญ่ จึงรับนักศึกษาประกาศนียบัตรได้อีก  จนถึงวันที่ 5 กันยายน  พุทธศักราช 2482 นายเขษม  พุ่มพวง มารับตำแหน่งครูใหญ่

พุทธศักราช 2485 โรงเรียนต้องปิดไปเพราะสงครามมหาเอเชียบูรพา นายเขษม  พุ่มพวง  ย้ายไปประจำกรมอาชีวศึกษา

พุทธศักราช 2490 นายแอบ แก้วคล้าย ได้รับคำสั่งให้ย้ายมาจากโรงเรียนเกษตรกรรมนครศรีธรรมราช  มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ในการเปิดโรงเรียนเกษตรกรรม โดยใช้หลักสูตร  2 ปี รับนักเรียนที่จบ ป.4 เรียกว่า นักเรียนระดับชั้นต้นแผนกเกษตรกรรม 

พุทธศักราช 2498 ก็งดรับระดับนี้ ขยายมารับนักเรียนที่จบ ม.3  เรียกว่า อาชีวศึกษาตอนปลายแผนกเกษตรกรรม

พุทธศักราช 2507 งดรับอาชีวศึกษาตอนปลายแผนกเกษตรกรรม  แต่ขยายมาเปิดระดับประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ แผนกเกษตรกรรม หลักสูตร 3 ปี

พุทธศักราช 2520 กรมอาชีวศึกษา ได้ยกฐานะจากโรงเรียนเกษตรกรรม ขึ้นเป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมสงขลา เปิดสอนถึงระดับประะกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 

พุทธศักราช 2539  เปลี่ยนชื่อจากวิทยาลัยเกษตรกรรมสงขลา เป็น "วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา" มาจนถึงปัจจุบัน

นับจากจัดตั้งปีพุทธศักราช 2468 จนถึงปัจจุบันปี 2561 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา มีอายุถึง 93 ปี  นับว่าเป็นวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของกองวิทยาลัยเกษตรกรรม กรมอาชีวศึกษา
ที่มา ดงตะเคียน19 http://oknation.nationtv.tv/blog/dongtakien19/2009/03/15/entry-1

ประวัติวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา จากเว็บไซต์สถาบัน http://www.scat.ac.th

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2468 โดยเปิดสอนครั้งแรกระดับครูมูล ต่อมา 2490 ได้เปลี่ยนมารับนักเรียนที่จบ ป.4 เรียกว่านักเรียนชั้นต้นแผนกเกษตร จนถึง พ.ศ.2498 งดรับนักเรียนที่จบ ป.4 และขยายมารับนักเรียนที่จบ ม.3 (ป.7 หรือ ป.6 ในปัจจุบัน) เรียกว่อาชีวตอนปลายแผนกเกษตรกรรม

          พ.ศ.2507 งดรับอาชีวศึกษาตอนปลายแผนกเกษตรกรรม แต่ขยายมาเปิดระดับประโยคมัธยมศึกษาได้ยกฐานะโรงเรียนเกษตรกรรมขึ้นเป็น "วิทยาลัยเกษตรกรรมสงขลา" เปิดสอนถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)

          พ.ศ.2537 กรมอาชีวศึกษามีนโยบายให้เปิดสอนในลักษณะของวิทยาลัยชุมชนและวิทยาลัยฯ ได้รับอนุมัติให้เปิดการสอนในลักษณะวิทยาลัยชุมชนในชื่อ "วิทยาลัยชุมชนลพบุรีราเมศว์" ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาหลากหลายสาขาวิชาและหลายรูปแบบทั้งหลักสูตรปกติและหลักสูตรระยะสั้น โดยหลักสูตรมีความยืดหยุ่นตามความต้องการของชุมชน

          พ.ศ.2539 กรมอาชีวศึกษาให้เปลี่ยนชื่อจากวิทยาลัยเกษตรกรรมสงขลา และวิทยาลัยชุมชนลพบุรีราเมศว์เป็น "วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา" เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพและประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ในสาขาต่าง ๆ ทั้งภาคเกษตรและภาคนอกเกษตร

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา ธงสีประจำสถาบัน สีเขียว ขาว เหลือง ต้นไม้ประจำสถาบัน ตะเคียนทอง ปรัชญาวิทยาลัย "สร้างคนเก่ง ผลิตคนดี มีมาตรฐาน สนองความต้องการสู่ชุมชน" จวบจนถึงปัจจุบันวิทยาลัยแห่งนี้ยังเป็นแหล่งสร้างคนคุณภาพที่ไม่ใช่แค่การเกษตรแต่ยังมีด้านเทคโนโลยีและบริการท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย เกษตรรัตภูมิ จึงเป็นอีกหนึ่งสถาบันแห่งความภาคภูมิใจของชาวรัตภูมิ ชาวสงขลา ในฐานะสถาบันอาชีวศึกษาด้านการเกษตรที่มีคุณภาพในระดับประเทศ ที่นี่คือ ดงตะเคียน

ที่ตั้ง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา
เลขที่ 142 ถนนยนตรการกำธร หมู่ที่ 3 ตำบลท่าชะมวง อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา 90180
โทร. 0-7438-9118  โทรสาร. 0-7438-9118 E-mail address : kaset_sk@hotmail.com Website : http://www.scat.ac.th

ข้อมูล/ภาพ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา ,บล๊อกโอเคเนชั่น ดงตะเคียน19
ต้อม รัตภูมิ รวบรวม/รายงาน
#108
เห็นป้ายชื่อร้านแล้วคิดว่าน่าสนใจเลยลองแวะชิมแล ก๋วยเตี๋ยวไก่โบราณสูตรปากพะยูน พัทลุง เขาบอกว่าลอกสูตรมมาจากต้นตำรับเลย รสชาติออกมาทางหวานนิดๆ จากซอสสีแดง ปริมาณถือว่าผ่าน ราคาถ้วยละ 50 บาท ลองแวะชิมกันได้แถวเขต8 หาดใหญ่ อยู่ฝั่งเดียวกับทีโอที ใกล้ตึกดีแทคเก่า ร้านเปิด 9.30-18.00 น.หยุดวันอาทิตย์   
#109
นายกไพร ขอบคุณทุกฝ่ายที่เสียสละ-ชื่นใจผลงานก่อสร้างวงเวียนน้ำพุเสร็จเร็วกว่ากำหนด

(8 มิ.ย.61) ดร.ไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างผิวจราจรคอนกรีตทดแทนผิวจราจรเดิมที่ชำรุดบริเวณวงเวียนน้ำพุ ซึ่งเป็นพื้นที่สัญจรหลักของเมืองหาดใหญ่ โดยเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนมกราคม และกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้

ซึ่งในช่วงการก่อสร้างที่ผ่านมาทางผู้รับเหมาจำเป็นต้องมีการปิดจราจรบางส่วนทำให้มีรถติดขัดบ้าง แต่ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะตำรวจจราจร สภ.หาดใหญ่ ที่ลงมาดูแลการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนมาโดยตลอด รวมถึงทางผู้รับเหมา ทางกองช่างเทศบาล ได้ติดตามการทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้กระทบต่อผู้ใช้ถนนมากที่สุด

วันนี้ในส่วนของพื้นผิวจราจรก่อสร้างเสร็จแล้วและเป็นงานที่เรียบร้อยดีมาก เหลือเพียงการตีเส้นจราจรและก่อสร้างทางเท้าบริเวณโดยรอบซึ่้งจะไม่กระทบต่อการจราจรแล้วและมั่นใจว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จส่งมอบงานได้ทันเวลา ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณชาวหาดใหญ่และผู้ใช้ถนนทุกท่านด้วยที่ให้ความร่วมมือเลี่ยงเส้นทางช่วงก่อสร้างในช่ั่วโมงเร่งด่วนด้วย

สำหรับโครงการซ่อมแซมผิวจราจรบริเวณรอบวงเวียนน้ำพุ ใจกลางเมืองหาดใหญ่ ปรับเปลี่ยนผิวจราจรเดิมที่มีความขรุขุระ เป็นลูกคลื่นลูกระนาด เป็นผิวคอนกริตเสริมเหล็กแทน โดยเริ่มต้นสัญญาโครงการมาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2560 สิ้นสุดสัญญา 15 สิงหาคม 2561 ใช้วงเงินก่อสร้างจากภาษีประชาชนจำนวน 8,270,000 บาท หจก.ซุ่นเฮงก่อสร้าง เป็นผู้ชนะการประมูล
#110
พ่อเมืองสงขลา อัญเชิญพระแสงราชศัสตรา ประจำมณฑลนครศรีธรรมราช ณ เมืองสงขลา มาจัดเก็บ ณ ห้องเก็บพระแสง  สำนักงานคลังจังหวัดสงขลา

( 7 มิ.ย. 61 ) เวลา 09.09 น.นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานอัญเชิญพระแสงราชศัสตรา ประจำมณฑลนครศรีธรรมราช ณ เมืองสงขลา มาจัดเก็บยังห้องเก็บพระแสง ณ สำนักงานคลังจังหวัดสงขลา โดยมีนางมัลลิกา อัพภาสกิจ คลังจังหวัดสงขลา และเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังจังหวัดสงขลา ร่วมพิธีอัญเชิญอย่างพร้อมเพรียง

สำหรับพระแสงราชศัสตรา หมายถึง อาวุธมีคมของพระมหากษัตริย์ที่ใช้สำหรับเป็นเครื่องฟันแทงถือเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ อันแสดงถึงฐานะความสําคัญของพระมหากษัตริย์ และพระราชอํานาจอันเป็นอาญาสิทธิ์สูงสุดในการปกครองแผ่นดิน

ทั้งนี้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองให้แก่บรรดาหัวเมืองน้อยใหญ่  โดยในคราเสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้  เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2458  ทรงพระราชทานพระแสงราชศัสตรา ประจำมณฑลนครศรีธรรมราช มายัง ณ เมืองสงขลา โดยมีใจความว่า

"เพื่อแสดงให้เห็นปรากฏว่า ถึงแม้ตัวฉันมาที่นี่เสมอไม่ได้ก็จริง  แต่ใจยังเป็นห่วงอยู่เสมอ ฉันจึงขอให้พระแสงราชศาสตราของฉันไว้ เพื่อเป็นพยานแห่งความรู้สึกพอใจ ฉันขอให้เธอรับพระแสงนี้ไว้ ต่างตัวฉันเพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งพระราชอำนาจที่ได้แบ่งให้สมุหเทศาภิบาลผู้เป็นน้องของฉัน ถือไว้แทนตัวฉันแลขอให้รักษาพระราชอำนาจไว้เป็นเครื่องบำรุงความสุขสำราญแห่งประชาชน ซึ่งตั้งใจทำมาหาเลี้ยงชีพโดยความสุจริต แลขอให้ใช้อำนาจอันนี้เป็นเครื่องปราบปรามผู้ที่กระทำผิดคิดประทุษร้ายแลทำลายความสุขแห่งประชาชน แลบ้านเมืองที่อยู่ในความปกครองของฉัน ขอเธอได้รับพระแสงนี้ไว้แลขอให้บรรดาข้าราชการแลเสือป่า รู้สึกเหมือนได้รับพระแสงเหมือนกัน ให้ช่วยกันรักษาพระแสงนี้เป็นเครื่องหมายพระราชอำนาจอย่าให้เสื่อมทรามไป อย่าให้ผู้ใดดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ของพระเจ้าแผ่นดินสยาม เมื่อตั้งใจพร้อมกันอยู่เช่นนี้แล้ว แลตั้งอยู่ในธรรมที่ชอบขอให้มีความสุขความเจริญ "

พระแสงราชศัสตรา หรือพระแสงราชาวุธ หมายถึง อาวุธมีคมของพระมหากษัตริย์ที่ใช้สำหรับเป็นเครื่องฟันแทงถือเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ อันแสดงถึงฐานะความสําคัญของพระมหากษัตริย์ และพระราชอํานาจอันเป็นอาญาสิทธิ์สูงสุดในการปกครองแผ่นดิน



อุมาพร สังขวณิช / ข่าว ประชา โชคผ่อง  /ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา
#111
หาดใหญ่ จะก้าวเดินต่อไปได้อย่างไร ถ้าเรายังไม่ยอมพูดความจริง?

ช่วงหลายวันที่ผ่านมากระแสเกี่ยวกับเศรษฐกิจซบเซาที่เมืองหาดใหญ่ ถูกพูดถึงในวงกว้างถูกตีแผ่แง่มุมต่างๆ ทั้งในสื่อระดับชาติ สื่อท้องถิ่น ที่มีความเห็นหลากหลายแตกต่างกันออกไป ผมได้ติดตามทั้งสื่อที่นำเสนอถึงความซบเซาของเมือง และสื่อที่นำเสนอว่าเมืองยังเป็นปกติแค่มีผลกระทบตามเศรษฐกิจที่ซบเซาทั่วโลกเท่านั้นเอง

ติดตามจากทั้ง 2 ฝั่งแต่จะไม่ขอเอ่ยถึงบุคคลใดๆ มาอ้างอิง แต่ขอเสนอในความคิดส่วนตัวในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของหาดใหญ่ วันนี้หากจะให้่โจทย์สัก 1 ข้อว่า "มาหาดใหญ่เที่ยวไหนดี" มองแบบวันเดย์ทริป วันเดียวเที่ยวทั่วเมือง ตื่นเช้ามาแน่นอนว่าหาดใหญ่ต้องไปหาแต่เตี๋ยมติ่มซำรองท้องยามเช้า สายๆ ขึ้นเขาคอหงส์ชมเมืองหาดใหญ่ ก่อนหาอาหารหนักในภาคเที่ยงซึ่งมีให้เลือกมากมาย ไทย จีน มุสลิม สากล พื้นบ้านที่นี่มีครบหมด อิ่มแล้วก็ต้องไปเดินช้อปปิ้งหาของฝากกันที่ตลาดกิมหยง ย่านค้าขายในตำนานของเมือง พลบค่ำหากจะเที่ยวก็มทั้งตลาดน้ำคลองแห ตลาดกรีนเวย์ เปิดท้ายขนส่ง หรือจะหาของกินแบบจัดหนักก็มีให้เลือก อยาเที่ยวต่อภาคดึกสถานบันเทิงก็มีมากมาย

นำเสนอแค่นี้ก็สะท้อนได้ว่าหาดใหญ่ยังมีสีสัน แต่ถ้าถามจริงๆ วันนี้คนมาหาดใหญ่เขาไปไหนกัน ถ้าถามคนรอบเมืองหาดใหญ่ทั้ง รัตภูมิ ควนเนียง บางกล่ำ นาหม่อม ฯลฯ เขาเหล่านี้บอกเลยว่าหาดใหญ่ก็ไปเที่ยวห้าง มีไม่กี่คนหรอกที่บอกว่าไปตลาดสด ไปกิมหยง พลาซ่า เพราะคนเข้าเมืองสมัยเขาขับรถมาเองเกือทั้งหมด ถ้าไปที่เหล่านี้จะจอดรถที่ไหน จะเดินไปอย่างไร ถ้าไม่เจาะจงสินค้าที่จะซื้อจริงๆ ก็บอกเลยว่าแทบไม่มีใครอยากไปเดินสถานที่เหล่านี้หรอก เหมือนที่หลายคนบอกว่าวันนี้สินค้าในตลาดก็แทบไม่ต่างจากในห้าง เดินห้างตากแอร์ฟรีมีที่นั่งพัก มีของกินหลากหลาย จอดรถสบายได้ของราคาชัดเจน

ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยชอบซื้อของในตลาดเหล่านี้เพราะเคยมีประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองโง่ หลายปีมาแล้วไปเดินซื้อกางเกงยีนส์ แม่ค้าบอก 590 ผมก็เลือกจนชอบจนถููกใจเลยตัดสินใจซื้อถามแม่ค้าว่าลดได้เท่าไหร่ แม่ค้ายิ้มหวานบอกพี่ยอมขาดทุนให้ 550 ก็แล้วกัน เพื่อนอีกคนเป็นนักต่อรองชั้นเยี่ยมเขาไปซื้อยีนส์แบบเดียวกันได้ในราคา 350 ผมเลยโดนแซวว่าซื้อของไม่เป็นว่าโง่อยู่หลายวัน ซึ่งเพื่อนเขาแค่แซวขำๆ หยอกเล่นๆ แต่มันฝังใจผมอยู่จนทุกวันนี้ จนผมแทบไม่เคยซื้อของเหล่านี้จากตลาดเลยเพราะผมมองว่าถ้าซื้อในห้างยังไง "มึงกับกูก็ได้ราคาเดียวกันแน่เว้นแต่เขาจะมีโปรโมชั่น"

สำหรับสาวๆ หรือคนชอบซื้อของเขาอาจสนุกกับการได้ต่อรอง แต่สำหรับคนที่เขาไม่ชอบไม่เก่งเรื่องนี้เขาคงมีความรู้สึกเหมือนผมหลายคนเช่นกันแหละครับ มาดูที่ภาพของเมืองบ้าง หาดใหญ่ตั้งแต่ในอดีตเป็นเมืองที่เติบโตด้วยตัวเอง โตแบบไม่มีทิศทาง ตัวเมืองกระจุกอยู่แค่หน้าหอนาฬิกา กิมหยง สาย 1-2-3 แค่นั้นแหละ ขยับไปรอบๆ แทบไม่มีอะไรเลย พื้นที่สาธารณะพื้นที่พักผ่อนใกล้เมืองแทบไม่มีเลย เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ก็ขยับไปไหนไม่ได้แล้ว เทศบาลเมืองใหม่ๆ เกิดมารายล้อมนครหาดใหญ่ คอหงส์ ควนลัง บ้านพรุ คลองแห ผู้นำเมืองเหล่านี้เคยมีการพูดคุยเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองร่วมกันหรือไม่

หาดใหญ่วันนี้จึงเหลือแค่ 21 ตร.กม.เท่านั้นหรือ ทะเลแหลมโพธิ์ ขุนเขาโตนงาช้าง หลังเขาคอหงส์ หรือแม้แต่ตลาดน้ำคลองแหที่โด่งดังมาหลายปี แต่จากในเมืองหาดใหญ่ยังไม่เห็นป้ายบอกทางหรือป้ายสื่อสารให้รู้ว่าตลาดน้ำคลองแหอยู่ที่ไหน เดินทางไปอย่างไรหาแทบไม่ได้เลย ขุนเขาคอหงส์ ที่เคยวาดฝันว่าจะได้นั่งกระเช้าจากภาคพื้นดินด้านล่างไปยังสุดยอดก็ทำได้แค่จากยอดเขาไปยังอีกยอดเขาโดยต้องนั่งรถหรือขับรถไต่เขาขึ้นไปก่อนเพื่อนั่งกระเช้า ระบบขนส่งมวลชนที่ล้มเหลวล้าหลัง ก็เป็นอีกปัจจัยของเมือง น่าเสียดายที่เราสามารถย้ายรถโดยสารไปรวมกันที่ขนส่งได้แล้วแต่ไม่สามารถเพิ่มพื้นที่จอดรถในเมืองได้เลย

หากจะเข้ามาซื้อของที่กิมหยง สันติสุข พลาซ่า ตลาดสด ถ้าใครขับมาถึงเจอที่จอดรถว่างนี่บอกเลยว่าโชคดีพอๆกับถูกเลขท้าย 2ตัวเลย ทางเดินและขอบถนนแม่ค้ายึดหมดแล้ว หน้าบ้านที่เป็นร้านค้าก็จอดไม่ได้ ยังมีวันคี่วันคู่มาทำให้ที่จอดน้อยลงไปอีก จอดรถที่ไหน จอดซ้อนคัน จอดเปิดไฟกระพริบ จอดขาวแดง แถมยังมีรถบัสต่างสัญชาติจอดทับที่อีก ทีรถบัสโดยสารไทยอุตส่าห์จัดระเบียบเปลี่ยนเส้นทางไม่ให้วิ่งเข้าเมือง แต่รถต่างชาติกลับไม่ทำอะไรเลย เราจึงกลายเป็นเมืองที่ไร้ระเบียบ หลายคนเริ่มไม่อยากเข้าเมืองหาดใหญ่ เพราะเบื่อกับสภาพการจราจร ทางเท้าและถนนที่มีเจ้าของแทบทุกพื้นที่

ความไม่เป็นหนึ่งเดียวทั้งของภาครัฐและเอกชนก็เป็นปัญหาสำคัญของเมืองนี้ นายกในอำเภอหาดใหญ่เคยมีเวทีพูดคุยกันไหม เคยกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันบ้างไหมว่าจะทำการพัฒนาแต่ละเมืองแต่ละตำบลอย่างไร คลองแห ควรเป็นเจ้าภาพท่องเที่ยวทางน้ำไหม ควนลัง เมืองเกษตรทำได้ไหม คอหงส์ ท่องเที่ยวเชิงผจญภัย บ้านพรุ เมืองกีฬาและสันทนาการ น้ำน้อย ทุ่งใหญ่ ท่าข้าม พะตง คลองอู่ตะเภา คูเต่า ฉลุง ทุ่งตำเสา หรือแม้อำเภอติดกันเรามียุทธศาสตร์ที่จะทำการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกันได้ไหม แต่ละเมืองเป็นเจ้าภาพในด้านที่ตัวเองถนัดไปเลย โดยมีนครหาดใหญ่ เป็นพี่เลี้ยงหลักร่วมกับทางจังหวัด อบจ.อะไรก็ว่ากันไป

เคยเห็นภาพการโรดโชว์ของนครหาดใหญ่ บอกว่าเมืองนี้มีเขาคอหงส์ กับตลาดกิมหยง โปรโมทแค่นี้จริงๆ วันนี้การท่องเที่ยวเชิงจังหวัดนิยม ควรเกิดขึ้นได้แล้ว เราจะมีวิธีสื่อสารการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลาทั้งระบบได้อย่างไรบ้าง คือสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน พัทลุงหลายปีก่อนเขาบอกว่าไม่มาเที่ยวแวะเยี่ยวก็ยังดี แต่วันนี้พัทลุงวันเดียวเที่ยวไม่หมด เขาขุดความเป็นพัทลุงขึ้นมาเป็นจุดขาย ท้องทุ่งนา ป่าโหนด ร่มไผ่ ล่องแก่ง ลงเลสาบ วันนี้พัทลุงกลายเป็นเมืองต้องเที่ยวไปแล้ว และจะยกระดับเป็นเมืองพักไม่ใช่เมืองผ่านอีกต่อไป ทางกลับกันหาดใหญ่กำลังจะเป็นเมืองผ่านเพราะไม่มีอะไรมาเป็นจุดขายใหม่ๆ เลย

หลายปีที่ผ่านมากิจกรรมใหญ่ๆ ที่หาดใหญ่ แทบไม่มีอะไรเลยที่มีอยู่ก็ค่อยๆ หายไป สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ เคยจัดกิจกรรมแบบยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลโคมไฟ เทศกาลการค้าขาย หรือการแสดงจากศิลปินดาราครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ใครจำได้บ้าง ขนาดกระแสออเจ้าอึกทึกครึกโครมไปทั้งประเทศแต่ที่หาดใหญ่ไม่มีเลย เรามีแค่ปีใหม่สงกรานต์ที่กลางเมือง พอจะจัดงานทีนึงก็หน้าลีการ์เด้นส์ สวนหย่อมเซียงตึ๊ง ไปจัดในจุดที่แออัดไม่มีงานอะไรก็คนไม่เคยขาดอยู่แล้ว งานที่เป็นกระแส งานที่บ่งบอกความเป็นหาดใหญ่ไม่มีเลย งานสุดปลายทางที่หาดใหญ่ เคยยิ่งใหญ่มาก หรืองานมหกรรมไก่ทอดต้อนรับช่วงออกบวชของพี่น้องชาวมุสลิมที่มีทั้งไทย มาเลย์ มาเที่ยวบ้านเรามากมายทำไมไม่รวบรวมร้านเหล่านี้ให้เขาบ้าง

บอกตามตรงว่าน่าเสียดายเมื่อเศรษฐกิจเงียบ เมืองหาดใหญ่เราก็เงียบตามไปด้วยไม่มีกิจกรรมดึงดูดหรือกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เลย อยากเห็นงานระดับจังหวัดจัดขึ้นในสวนสาธารณะ ยก 16อำเภอมาไว้ที่นี่ มีการแสดงทางวัฒนธรรม จำหน่ายสินค้าโอทอป ออกร้านแบบย้อนยุคสไตล์ภาคใต้ มีมุมถ่ายภาพใต้ต้นเสม็ดชุน วิถีโหนดนาเล ควบคู่ไปกับการส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวประจำชุมชน 1 ตำบล 1 จุดขายอะไรก็ว่ากันไป ส่วนในเมืองก็ควรอาศัยช่วงเวลานี้แหละในการจัดระเบียบ ขอความร่วมมือแม่ค้าทั้งหลายว่าถ้ายังขายบนถนน ทางเท้ายังเดินไม่ได้ ถ้าไม่จัดระเบียบบ้างใครเขาก็คงไม่อยากมาบ้านเราหรอกครับ

หาดใหญ่ไม่ได้วิกฤตแต่หาดใหญ่ต้องเปลี่ยนแปลง ผู้นำในทุกระดับต้องหันหน้ามาพูดความจริงเพื่อหาแนวทางแก้ไขที่ถูกต้องกันได้แล้ว หมดยุคเก็กหล่อนั่งแถวหน้าเดินหาไมค์แล้ว

ปล.บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น หากไม่ตรงกับความคิดของใครก็ขออภัยด้วยครับ
ต้อม รัตภูมิ รายงาน
#112
จากโค้งในตำนาน เป็นแหล่งสืบสานวัฒนธรรม มโนราห์พัทลุง

ทางหลวงหมายเลข4 ถนนเพชรเกษม หรือบางคนอาจเรียกว่าสายเอเชีย ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง มีทางโค้งที่เคยเกิดอุบัติเหตุบ่อยมากจนหลายคนเรียกโค้งในตำนานเรียกกันว่าโค้งหัวหรั่ง อ.เขาชัย จ.พัทลุง วันนี้ทางหลวงเขาได้มีการเวรคืนพื้นที่ดินตัดถนนใหม่จากทางโค้งเป็นทางตรง ซึ่งสามารถลดระยะทางและลดอุบัติเหตุได้มาก

พื้นที่ทางหลวงเดิมเลยเหลือเยอะ หากปล่อยไว้ก็คงโดนบุกรุกหรือรกร้างน่าเสียดาย ต้องขอชื่นชมเจ้าของไอเดียที่เปลี่ยนที่ว่างเป็นจุดเรียนรู้ทางวัฒนธรรม โดยมีการปั้นรูปมโนราห์ในท่ารำต่างๆ มีการจัดสวน พร้อมพื้นที่จอดรถ ใครที่ขับรถผ่านถ้าไม่เร่งรีบก็แวะเซลฟี่ แวะถ่ายภาพสวยๆ กันได้นะครับ   

#113
คืบหน้าคดีเผานั่งยาง จนท.ลงงมหาชิ้นส่วนกระดูกในคลองร.5 แต่ไม่พบ-อดีตสามียังให้การปฏิเสธ

คดีฆ่าเผานั่งยางนักธุรกิจสาวใหญ่สงขลาแม้ผู้ต้องหาจะมอบตัวแล้วและให้การปฏิเสธแต่ตำรวจยังคงเร่งหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อเอาผิด ล่าสุดตำรวจชุดสืบสวนได้ประสานชุดประดาน้ำไปดำน้ำค้นหาชิ้นส่วนกระดูกที่คาดว่าอาจจะถูกนำไปทิ้งในคลองใกล้กับจุดที่เผานั่งยางศพ

ความคืบหน้าคดีฆ่าเผานั่งยาง น.ส.ภิญญดา แป้นจันทร์ อายุ 48 ปี หรือเจ้อ้อย เศรษฐีนีนักธุรกิจขายตรงและขายประกันที่จ.สงขลา ซึ่งล่าสุด นายกฤษฎา หรือโรจน์ ไหมขาว อายุ 49 ปี อดีตสามีได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่แล้วและให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาหลังจากที่ถูกแจ้งดำเนินคดี4 ข้อหาหนัก

ล่าสุดเมื่อช่วงเที่ยงของวันนี้(4 มิ.ย.)ทางตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองสงขลาและฝ่ายสืบสวน สภ.คอหงส์ ได้ประสานชุดประดาน้ำของหน่วยกู้ภัยมูลนิธิมิตรภาพสามัคคีหาดใหญ่ ไปดำน้ำในคลองระบายน้ำรอ5 ห่างจากจุดที่เผานั่งยางศพประมาณ 500 เมตร พื้นที่หมู่5 บ้านท่านางหอม ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่

เพื่อค้นหาโครงกระดูกของผู้ตายโดยเฉพาะกระดูกชิ้นใหญ่เช่นแขนและขา และกระดูกส่วนอื่นของร่างกายที่คาดว่าไฟยังไหม้ไม่หมด และอาจจะถูกนำมาทิ้งไว้ในคลองเพื่ออำพรางคดี แต่หลังจากที่ดำน้ำค้นหากว่า 2 ชั่วโมง บริเวณจุดที่ต้องสงสัยว่าน่าจะถูกนำกระดูกไปโยนทิ้ง แต่ก็ไม่พบโครงกระดูกหรือหลักฐานอย่างอื่นเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่จึงถอนกำลัง และจะยังคงพยายามเดินหน้าค้นหาหลักฐานบริเวณรอบๆจุดเกิดเหตุต่อไปเพราะเชื่อว่าน่าจะยังหลงเหลืออยู่
#114
อดีตสามีที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีฆ่าเศรษฐีนีนักธุรกิจชาวสงขลา เข้ามอบตัวแล้วแต่ให้การปฏิเสธ

ความคืบหน้าคดีฆ่าเผานั่งยาง น.ส.ภิญญดา แป้นจันทร์ อายุ 48 ปี เศรษฐีนีนักธุรกิจขายตรงและขายประกันที่จ.สงขลา  ล่าสุดนายกฤษฎา หรือโรจน์ ไหมขาว อายุ 49 ปี อดีตสามีที่ตกเป็นผู้ต้องหาและถูกศาลจ.สงขลา ออกหมายจับในข้อหาฆ่าผู้อื่น
ได้เข้ามอบตัวกับ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้ ซึ่งลงพื้นที่มาควบคุมคดีนี้ด้วยตัวเอง โดยผู้ต้องหาเข้ามอบตัวแต่ช่วงกลางดึกคืนวันที่ 3 มิถุนายนหลังจากหนีกบดานนาน3 วัน

จากการสอบสวนในเบื้องต้น นายกฤษฎา ให้การปฏิเสธโดยขณะนี้ทาง พล.ต.อ.วิระชัย และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องกำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนผู้ต้องเพิ่มเติมพร้อมกับจะแถลงรายละเอียดของคดีนี้อีกครั้ง
#115
รองผบ.ตร.ลงพื้นที่ติดตามคดีฆ่าเผานั่งยางนักธรกิจสาว พร้อมสั่งไล่ล่าอดีตสามีซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัย 

พล.ต.อ.วิระชัยทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เตรียมเดินทางลงพื้นที่ จ.สงขลา ติดตามคดีฆ่าเผานั่งยางนักธุรกิจสาว ขณะที่ตำรวจในพื้นที่ 4 หน่วยประสานการทำงาน ทั้งไล่ล่าอดีตสามีที่เป็นผู้ต้องสงสัย และรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อออกหมายจับ

(3 มิ.ย.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ย่างเข้าสู่วันที่ 3 ของการสืบสวนสอบสวน คดีฆ่าเผานั่งยาง น.ส.ภิญญดา แป้นจันทร์ อายุ 48 ปี นักธุรกิจขายตรงและขายประกันกลางป่าพรุพื้นที่บ้านท่านางหอม หมู่5 ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งแทบไม่เหลือชิ้นส่วนกระดูก และถือเป็นคดีที่โหดเหี้ยมอีกคดีหนึ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.สงขลา และจากพยานหลักฐานเชื่อว่าเป็นฝีมือของอดีตสามีเก่า ที่ยังหลบหนีไปพร้อมกับรถเบนซ์สีดำ ป้ายหมายเลข 333

ล่าสุดมีรายงานว่าคดีนี้ทาง พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เตรียมเดินทางลงพื้นที่ จ.สงขลา เพื่อติดตามความคืบหน้าการสืบสวนสวนด้วยตัวเองในอีก 1-2 วันนี้ เนื่องจากเป็นคดีใหญ่อีกคดีหนึ่ง ที่ขณะนี้ยังไม่สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้

ทางด้านความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวน ขณะนี้ได้มีการประสานการทำงานกันระหว่างตำรวจ 4 หน่วยคือ สภ.เมืองสงขลา สภ.คอหงส์ ชุดสืบสวนตำรวจภูธร จ.สงขลา และเจ้าหน้าที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 9 เนื่องจากมีพื้นที่เกิดเหตุ 2 อำเภอคือที่บ้านพักใน อ.เมืองสงขลา และจุดที่ศพถูกนำมาเผานั่งยางในพื้นที่ อ.หาดใหญ่

โดยในส่วนของการติดตามตัวอดีตสามีซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัย ขณะนี้ยังไม่พบตัวทางชุดสืบสวนตำรวจภูธรตำรวจสองยังคงออกไล่ล่าตามเบาะแสที่ได้รับ และจากการตรวจสอบจากสัญญาณโทรศัพท์มือถือซึ่งพบความเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่แถว จ.ตรัง แต่เจ้าหน้าที่มั่นใจว่าจะได้ตัวในเร็วๆ นี้

ส่วนการสอบสวนพยานแวดล้อมขณะนี้ใกล้เสร็จแล้ว ทั้งญาติและเพื่อนบ้านซึ่งต่างให้การชี้ชัดไปที่อดีตสามีเป็นคนฆ่า โดยเฉพาะการล้างรถเบนซ์ในช่วงตี 3-4 ของคืนวันที่ 23 พฤษภาคม รวมทั้งอดีตสามียังเป็นคนรับโทรศัพท์ของผู้ตายในวันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งน้องสาวโทรมาหาหลังจากที่มีกำหนดเดินทางเข้ากรุงเทพฯ แต่ไม่ได้ไป

แต่อย่างไรก็ตามคดีนี้ยังคงต่อรอผลตรวจอัตลักษณ์บุคคลของแพทย์ฝ่ายนิติวิทยาศาสตร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์มายืนยันอีกครั้งว่า โครงกระดูกที่พบในจุดเกิดเหตุตรงกับผู้ตายหรือไม่ ซึ่งจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะนำไปสู่การออกหมายจับและมัดตัวอดีตสามี

#116
วัดจังโหลน อีกหนึ่งสถานที่ในตำนานของเมืองรัตภูมิ

วัดจังโหลน ตั้งอยู่เลขที่ 182 หมู่ที่ 11 บ้านจังโหลน ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย พื้นที่ตั้งวัดเป็นเนินสูง มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 35 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา

วัดจังโหลน สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2100 สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่เก่าแก่ในบางช่วงก็ไม่มีพระอาศัย มีสภาพทรุดโทรม ประมาณปี พ.ศ. 2310มีพระภิกษุจากวัดเกาะถ้ำ จังหวัดสงขลา เดินทางมาจำพรรษาและเป็นพระอุปัชฌาย์ มีผู้คนเข้าไปศึกษาและบวชเป็นพระจำนวนมาก ชาวบ้านเรียกท่านว่า "ท่านเกาะถ้ำ" มีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ท่านต้องลาสิขาบท ทำให้วัดจังโหลนได้ร้าง ไม่มีพระจำพรรษา ไปช่วงหนึ่ง และต่อมาได้มีชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงได้บวชเป็นพระและจำพรรษาเรื่อยมา

วัดจังโหลน เจริญรุ่งเรืองอีกครั้งในสมัยที่ พระแก้วเป็นเจ้าอาวาส มีคนเลื่อมใสศรัทธาและนำบุตรหลานมาฝากให้เล่าเรียนและอุปสมบทเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ. 2476 ได้ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอเปิดโรงเรียนประชาบาลขึ้นในบริเวณวัดท่านอาจารย์แก้วจึงถือเป็นผู้ที่นำทางการศึกษาให้กับคนในชุมชน และท่านได้สร้างศาลาการเปรียญขึ้นมา 1 หลัง กว้าง 16 เมตร ยาว 21 เมตร ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน ศาลาการเปรียญหลังนี้นอกจากใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแล้วยังใช้เป็นอาคารเรียนอีกด้วยและนอกจากนั้นท่านอาจารย์แก้วยังคงสร้างอุโบสถ และประธานภายในอุโบสถที่มีขนาดหน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 2 เมตร 10 เซนติเมตร เป็นที่สักการะบูชาของคนทั่วไป ท่านอาจารย์แก้วได้สร้างคุโณปการมากมาย ทั้งการถนุบำรุงพระศาสนา และส่งเสริมการศึกษาให้กับประชาชนในท้องถิ่น

วัดจังโหลน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2482 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตร ผูกพัทธสีมา พ.ศ. 2482 (ที่มา http://rattaphumonline.com/contents/58)

วัดจังโหลน ตั้งอยู่ติดเขาจังโหลนหนึ่งในตำนานภูผาของรัตภูมิ (จะหาข้อมูลมานำเสนอต่อไป) ซึ่งเป็นภูเขาที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์และมีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย พื้นที่วัดได้ถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหนึ่งแห่งของอำเภอรัตภูมิ หากมีโอกาสขึ้นเขาจังโหลน จะนำภาพ ข้อมูลเพิ่มเติมมาให้ได้ติดตามกันอีกครับ

ภาพโดย Noom Khongpeng
#117
1 มิถุนายน วันสถาปนาโรงเรียนรัตภูมิวิทยา (ร.ย.)

โรงเรียนรัตภูมิวิทยา เริ่มทำการสอนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2513  มีนักเรียน 80 คน จำนวน 2 ห้องเรียน ครูประจำการ 5 คน  มีนายไพบูลย์ เสรีรัตน์ ดำรงตำแหน่งเป็นครูใหญ่คนแรก เริ่มแรกได้มีการก่อสร้างโรงเรียนที่บริเวณใกล้ที่ว่าการอำเภอรัตภูมิ ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่ตั้งปัจจุบัน เลขที่ 587 หมู่ที่ 11 ถนนเพชรเกษม ตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา 90180 โทรศัพท์ 074-584105

โรงเรียนรัตภูมิวิทยา ได้พัฒนาการจัดการเรียนการสอนมาอย่างต่อเนื่อง  จนได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานโรงเรียนมัธยมขนาดกลาง เมื่อปีการศึกษา 2535 และเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2546 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารใหม่  จึงโอนย้ายโรงเรียนจากสังกัดกรมสามัญศึกษาไปเป็นสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ในปีการศึกษา 2554 โรงเรียนได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนประชาธิปไตยตัวอย่างของสำนักนายกรัฐมนตรี  และได้ผ่านการรับรองเป็นโรงเรียนในฝัน  รุ่นที่ 3 

ปัจจุบันโรงเรียนรัตภูมิวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 16 (สงขลา-สตูล) มีนายกิตติ์ภูมิ คงศรี เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นนักบริหารหการศึกษาที่พัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก ศิษย์เก่า การส่งเสริมวิชาการ กีฬา พัฒนาวงโยธวาทิตของโรงเรียน ฯลฯ 

โรงเรียนรัตภูมิวิทยา มีสีประจำโรงเรียนคือสีม่วง-ขาว เพลงมาร์ชม่วง-ขาว เป็นเพลงประจำโรงเรียน มีต้นอินทนิล เป็นต้นไม้ประจำโรงเรียน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโรงเรียรัตภูมิวิทยา ได้สร้างนักเรียนจากรุ่นสู่รุ่นออกรับใช้สังคมประเทศชาติ และยังคงเป็นสถาบันการศึกษาคุณภาพสำหรับผู้เรียนทุกคนต่อไป

ไม่ใช่แค่ 6 ปีที่ผูกพันธ์แต่คือสถาบันที่รักยิ่งตลอดไป
ต้อม รัตภูมิ ศิษย์เก่า ร.ย.รุ่น 28
#118
เมื่อราคาน้ำมันผันผวน?

หลังจากที่ราคาน้ำมันเกือบทุกชนิดขยับมาแตะที่ 30 บาทต่อลิตรอีกครั้งในรอบหลายปี ทำให้ผู้ใช้รถทั้งหลายเริ่มมีเสียงกันอีกครั้ง รถโดยสารก็ขอขึ้นราคา รถรับส่งนักเรียนก็จะขึ้นราคา รถที่ใช้อยู่ก็มีค่าใช้จ่ายในแต่ละวันเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของทุกคนว่าควรทำอย่างไรดี

น้ำมันแพงให้เติมน้ำนั้นทำไม่ได้และนายกก็ไม่ได้บอกให้ทำแบบนั้นด้วย น้ำมันแพงต้องประหยัดนั้นพูดง่ายแต่ทำยากในเมื่อชีวิตทุกวันต้องมีการเดินทาง ไปทำงาน ไปบ้านญาติพี่น้อง ไปไหนต่อไหนมากมายถ้าไม่ใช้รถแล้วจะไปอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่ารถคือปัจจัยจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของทุกครอบครัว แทบไม่มีครอบครัวไหนไม่ใช้รถ และหลายครอบครัวใช้รถมากกว่า 1คันด้วย

ราคาน้ำมันและค่าสูงชีพที่พุ่งสูงขึ้นทุกวันและสวนทางกับค่าครองชีพของประชาชนที่ลดลงทุกวันแทบทุกด้าน ราคายาง ราคาปาล์ม ราคากุ้ง ล้วนตกต่ำลงทั้งนั้นแต่ค่าปุ๋ย ค่าแก๊ส ค่าขนส่งขึ้นแบบไม่ลืมหูลืมตา รัฐบาลก็บอกว่าเป็นไปตามกลไกตลาดโลก แต่นั้นแหละบางทีประเทศเราก็ไปไกลกว่าตลาดโลกเช่นกัน ราคาน้ำมันเราก็แพงกว่าเพื่อนบ้านจนทำให้สินค้าเพื่อนบ้านไหลทะลักมาบ้านเรา

ในมุมมองส่วนตัวบางครั้งก็อยากหลับหูหลับตาเรื่องน้ำมันมาเลย์บ้าง เพราะมีความรู้สึกว่าอย่างน้อยนี่แหละที่ช่วยเยียวยาชีวิตชาวบ้านได้ในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง น้ำมันขวดขายกันลิตร 25-30 ขวดเดียวก็เติมได้ แต่น้ำมันปั๊มนอกจากราคารแพงกว่าแล้วยังบังคับเติมขั้นต่ำ 50-60 บาท บางที่เงินจำนวนไม่มากนี้ของหลายครอบครัวสามารถเอามาเป็นค่าขนม ค่าไปโรงเรียนลูกได้อีก 1วันด้วยซ้ำ

สำหรับเมืองชายแดนบ้านเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีสินค้าจากเพื่อนบ้านเข้ามาหลายชนิด เข้ามาหลายชนิดให้เราได้เลือกได้สรรหามาใช้กัน แต่ว่านั่นแหละมันคือสิ่งผิดกฎหมาย มันไม่ได้จ่ายภาษี มันไม่ได้ช่วยพัฒนาประเทศชาติ เหมือนกับหวยใต้ดินนั่นแหละเงินสะพัดในแต่ละงวดมากมายเหลือเกิน แต่ทำไมไม่ยกมันขึ้นมาบนดิน ไม่นำมาขายให้ถูกกฎหมายนำรายได้มาพัฒนาประเทศ

ประเทศเราติดกับดักการพัฒนาเพราะคำว่าเมืองพุทธ เพราะคำว่ามอมเมาประชาชน ฟุตบอลโลกที่กำลังจะมาถึงคอยดูว่าเขาจะสำรวจเม็ดเงินใต้ดินในประเทศ้ราว่าสะพัดเท่าไหร่ หมื่นหล้าน แสนล้าน ซึ่งเงินเหล่านั้นก็สะพัดอยู่ในชั้นใต้ดิน สะพัดไปหาคนบางกลุ่ม และสะพัดออกไปต่างประเทศ หากเรามีวิธีจัดการกับเงินเหล่านี้ให้คืนมาเป็นภาษีกับชาวบ้านเชื่อเถอะว่าประเทศเราดีกว่านี้แน่นอน

กลับมาที่เรื่องน้ำมันก็ขอเน้นย้ำว่าให้ทุกคนประหยัดการใช้น้ำมันให้มากที่สุด รัฐบาล ราคาน้ำมันเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ตัวเองเท่านั้นที่เราสามารถควบคุมได้ สรุปว่าประหยัด ประหยัด และประหยัด รัดเข็มขัดให้เต็มที่กันไปเลย จบข่าว   
#119
หาดใหญ่โพล ชี้ช่วงเปิดเทอม
ภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเพิ่มขึ้นทุกด้าน

หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้เป็นประชาชนในจังหวัดสงขลา จำนวน 400 คน ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างวันที่  10-14 พฤษภาคม  2561 ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้

รองศาสตราจารย์ทัศนีย์ ประธาน  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผย   ผลการสำรวจหาดใหญ่โพล  พบว่า  ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือน ประมาณ 31,764  บาท และมีรายจ่ายประมาณ 17,794  บาท  แต่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพในระดับปานกลางถึงมาก (ร้อยละ 83.00)  และมีสมาชิกเรียนระดับมัธยมศึกษา มากที่สุด (ร้อยละ 36.00) รองลงมา เป็นระดับประถมศึกษา (ร้อยละ 33.25) และระดับอุดมศึกษา (ร้อยละ 30.00) ตามลำดับ ซึ่งเมื่อสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบในช่วงการเปิดเรียนของบุตรหลาน  พบว่า ประชาชนร้อยละ 54.00 ไม่ได้รับผลกระทบในช่วงการเปิดเรียนของบุตรหลาน และร้อยละ 46.00 ได้รับผลกระทบในช่วงการเปิดเรียนของบุตรหลาน

ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าเล่าเรียนเพราะมีการเพิ่มขึ้น มากที่สุด (ร้อยละ 40.00) รองลงมา คือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับหนังสือ/อุปกรณ์การเรียน (ร้อยละ 30.25) และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าชุดนักเรียน (ร้อยละ 28.00) ตามลำดับ เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นต่อนักเรียน 1 คน พบว่า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มส่วนใหญ่    เป็นค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้นคนละ 1,500 บาท รองลงมา คือ ค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย   คนละ 700 บาท และค่าชุดนักเรียนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย คนละ 600 บาท

ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับหนี้สินของครัวเรือน พบว่า ประชาชนร้อยละ 37.24 ไม่มีหนี้สิน และประชาชนส่วนใหญ่มีหนี้สิน (ร้อยละ 62.76) โดยมีหนี้สินมากที่สุดไม่เกิน 10,000 บาท (ร้อยละ 28.13) รองลงมา มีหนี้สิน 10,000-50,000 บาท (ร้อยละ 23.96) และมีหนี้สิน 50,000-100,000 บาท (ร้อยละ 9.38) ตามลำดับ หนี้สินส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มากที่สุด (ร้อยละ 53.78) รองลงมา เป็นหนี้เพื่อการศึกษา/ค่าเทอมของบุตรหลาน (ร้อยละ 47.48) และหนี้สิ้นจากการซื้อบ้าน/ซื้อรถ (ร้อยละ 34.87) ตามลำดับ ประชาชนส่วนใหญ่ใช้การกู้ยืมเงินผ่านธนาคาร/สหกรณ์ มากที่สุด (ร้อยละ 54.39) รองลงมา คือ สถานธนานุบาล (โรงรับจำนำ) (ร้อยละ 35.56) และบัตรเครดิต/อิออน/เฟิร์สช้อยส์ (ร้อยละ 28.03) ตามลำดับ

ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 55.93 ไม่รู้ข้อมูลว่าสถานธนานุบาล มีการให้กู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยประชาชนในช่วงเปิดเทอม โดยประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 73.29 ใช้บริการสถานธนานุบาล (โรงรับจำนำ)  มีเพียงร้อยละ 26.71 ที่ไปใช้บริการสถานธนานุบาล (โรงรับจำนำ) 

ส่วนวิธีเตรียมการสู่สภาพการใช้เงินในช่วงเปิดภาคเรียน พบว่า ประชาชนร้อยละ 48.64 เห็นว่าวิธีการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในชีวิตประจำวันสามารถแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนในช่วง เปิดเทอมได้มากที่สุด รองลงมา คือ ประกอบอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ (ร้อยละ 24.83) และนำเงินสะสมมาช่วยบรรเทาภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น (ร้อยละ 17.69) ส่วนสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาการศึกษา พบว่า ประชาชนร้อยละ 57.69 เห็นว่าค่าเล่าเรียนแพงในทุกระดับเป็นปัญหาที่รัฐบาลควรแก้ปัญหาการศึกษา มากที่สุด รองลงมา ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินในการศึกษาต่อ (ร้อยละ 20.00) และเด็กประถมศึกษาอ่านหนังสือไม่ออกเพิ่มขึ้น/คะแนนโอเน็ตของนักเรียนสอบตกในทุกรายวิชาหลัก ร้อยละ 7.69 เท่ากัน
#120
ส.กีฬาสงขลา ประชุมเตรียมความพร้อม
จัดทัพนักกีฬาร่วมสู้ศึกกีฬาแห่งชาติ เจียงฮายเกมส์

สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา จัดประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2561 สรุปผลการดำเนินงานกีฬาของสมาคมและประกาศเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารสมาคม ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้าร่วม เตรียมพร้อมนักกีฬาสงขลาสู้ศึก การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 46 เจียงฮายเกมส์

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ณ ศาลากลางจังหวัดสงขลา สมาคมกีฬาจังหวัดสงขลา จัดประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2561 สรุปผลการดำเนินงานกีฬาของสมาคมและประกาศเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารสมาคม โดยมีนายประสงค์บริรักษ์ นายกสมาคมกีฬาจังหวัดสงขลาเป็นประธานในงาน พร้อมด้วยสมาชิกชมรมกีฬาต่างๆเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

นายประสงค์ บริรักษ์ นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า หลังจากวงการกีฬาจังหวัดสงขลา ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งการแข่งขันกีฬาแห่งชาติสงขลาเกมส์ การแข่งขันกีฬาแห่งชาติคัดเลือกภาค 4 ทั้งนี้การประชุมในครั้งนี้ก็เพื่อเตรียมสู้ศึกการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ เจียงฮายเกมส์ ในปลายปีนี้ และทางสมาคมฯจึงได้ปรับคณะกรรมการบริหารบางส่วน โดยดึงนักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษาเข้ามาดูแลด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อให้เกิดการพัฒนาฝีมือตามมาตรฐานสากล

สำหรับศึกเจียงฮายเกมส์ ที่จะถึงนี้ ทัพนักกีฬาสงขลา ที่ผ่านการแข่งขันคัดเลือกเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีนักกีฬาจำนวนทั้งสิ้น 372 คน เตรียมแข่งขันในศึกเจียงฮายเกมส์ ขณะเดียวกัน สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา ได้เตรียมความพร้อมและอำนวยความสะดวกในการเตรียมทัพนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันเจียงฮายเกมส์ให้มีความพร้อมอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกีฬาความหวังทั้ง 4 ชนิดกีฬา คือ ยูโด มวยปล้ำ เอ็กตรีม และปันจัตสีลัต และกำชับให้ผู้ฝึกสอนกีฬา ฝึกซ้อมและดูแลนักกีฬาในด้านต่างๆ เพื่อให้มีความพร้อมในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ เจียงฮายเกมส์ ในระหว่างวันที่ 18-28 พฤศจิกายน 2561 นี้