สรุปผลการสำรวจ HATYAI POLL เรื่อง "การเฝ้าระวังภาวะการเมือง เศรษฐกิจและสังคม" (เดือน พ.ย. 56- ม.ค.57)
หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ ความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดสงขลา เกี่ยวกับมุมมองภาวะการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยเก็บรวบรวมข้อมูลประชาชน จำนวน 407 ตัวอย่าง โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 24 -28 มกราคม 2557 ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้
สถานภาพกลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 64.6) อายุระหว่าง 21-30 ปี (ร้อยละ 38.5) รองลงมา มีอายุระหว่าง 31-40 ปี (ร้อยละ 22.7) และอายุระหว่าง 18-20 ปี (ร้อยละ 18.9) ตามลำดับ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียน/นักศึกษา (ร้อยละ 39.3) รองลงมา คือ ประกอบกิจการส่วนตัว/ค้าขาย, รับจ้างทั่วไป, พนักงานบริษัท/ลูกจ้าง และข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ คิดเป็นร้อยละ 16.0 , 13.3 , 13.0 และ 9.3 ตามลำดับ
สรุปผลการสำรวจ
ผศ.ดร. กอแก้ว จันทร์กิ่งทอง รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า ประชาชน ในจังหวัดสงขลาโดยส่วนใหญ่มีสถานะการเงินโดยมีรายได้มากกว่ารายจ่าย (ร้อยละ 43.2 ) ส่วนประชาชนที่มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ (มีหนี้สิน) ร้อยละ 19.1 ในขณะที่ร้อยละ 37.7 ไม่เหลือเก็บแต่ไม่มีหนี้สิน นอกจากนี้ประชาชนที่มีหนี้สินร้อยละ 49.6 มีภาระหนี้ไม่เกิน 50,000 บาท มากที่สุด (ร้อยละ 24.1) รองลงมา มีภาระหนี้สิน 50,001 - 100,000 บาท และมีภาระหนี้สินมากกว่า 200,000 บาทขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 7.9 และ 7.0 ตามลำดับ
ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 64.9 สามารถเก็บเงินในแต่ละเดือนได้ โดยที่ประชาชนสามารถออมเงินได้แต่ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน มากที่สุด (ร้อยละ 22.4) รองลงมา ออมเงินได้ 1,001-3,000 บาทต่อเดือน และออมเงินได้ 3,001-5,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 16.2 และ 13.2 ตามลำดับ ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 35.1 ไม่สามารถออมเงินได้
ประชาชนเห็นว่าปัญหาการคอร์รัปชั่นส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลมากที่สุด (ร้อยละ 46.1) รองลงมา เป็นปัญหาทางการเมืองและปัญหาทางเศรษฐกิจ/ค่าครองชีพแพง คิดเป็นร้อยละ 25.9 และ 9.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหาการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคที่จำเป็นส่งผลกระทบต่อรายจ่ายในชีวิตประจำวัน มากที่สุด (ร้อยละ 28.8) รองลงมา คือ ปัญหาค่าน้ำมันเชื้อเพลิง/LPG/NGV (ร้อยละ 23.0) ปัญหาค่าไฟฟ้า (ร้อยละ 18.1) และปัญหาค่าอาหารแพง (ร้อยละ 14.9)
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพรวมของปัญหาต่างๆ พบว่า ประชาชนในจังหวัดสงขลาเห็นว่าภาพรวมของปัญหาอยู่ในระดับมาก มีคะแนนเฉลี่ย 5.54 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน) และเมื่อพิจารณาตามประเด็นของปัญหา พบว่า ประชาชนเห็นว่าปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองและปัญหาการคอร์รัปชั่นในแวดวงการเมืองและราชการเป็นปัญหาที่สำคัญมากที่สุด มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากันที่ 6.10 คะแนน รองลงมา คือ ปัญหาราคาน้ำมันแพง , ปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ , ปัญหาการขึ้นราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ , ปัญหาการขาดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของรัฐบาล และปัญหาสภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีคะแนนเฉลี่ย 6.01 , 5.95 , 5.89 , 5.79 และ 5.78 ตามลำดับ โดยทุกๆประเด็นที่กล่าวมามีปัญหาในระดับมาก
ในส่วนของความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองนั้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 69.2 เห็นว่าการชุมนุมของชาวนาเพื่อเรียกร้องเงินจำนำข้าวส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในระดับมาก และร้อยละ 18.9 เห็นว่าการชุมนุมของชาวนาเพื่อเรียกร้องเงินจำนำข้าวส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในระดับปานกลาง ในขณะที่ร้อยละ 11.9 เห็นว่าการชุมนุมของชาวนาเพื่อเรียกร้องเงินจำนำข้าวส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในระดับน้อย ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 87.0 เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรมในการออก พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลบางส่วน
อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 92.4 เห็นว่าการออก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลบางส่วนส่งผลกระทบต่อประเทศ โดยที่ประชาชนร้อยละ 40.9 เห็นว่าการออก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้ประเทศไทยขาดความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ มากที่สุด รองลงมา ประชาชนเห็นว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ (ร้อยละ 25.9) เป็นการยั่วยุสถานการณ์ทางการเมืองจนนำไปสู่ความรุนแรง (ร้อยละ 21.3) และ ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว (ร้อยละ 11.9)