สรุปผลการสำรวจ HATYAI POLL
เรื่อง "สำรวจปัญหาค้ามนุษย์และแรงงานต่าวด้าว"
หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดสงขลาเกี่ยวกับการสำรวจปัญหาค้ามนุษย์และแรงงานต่างด้าว โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชน จำนวน 400 ตัวอย่าง โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 22 - 26 พฤษภาคม 2558 ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้
สถานภาพกลุ่มตัวอย่างกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 62.16) อายุระหว่าง 31- 40 ปี (ร้อยละ 42.61) รองลงมา มีอายุระหว่าง 21-30 ปี (ร้อยละ 37.59) และอายุระหว่าง 41-50 ปี (ร้อยละ 12.28) ตามลำดับ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างประกอบกิจการส่วนตัว/ค้าขาย (ร้อยละ 32.75) รองลงมา คือ รับจ้างทั่วไป และพนักงานบริษัท/ลูกจ้าง คิดเป็นร้อยละ 25.50 และ 17.25 ตามลำดับ
สรุปผลการสำรวจ
ผศ.ดร. กอแก้ว จันทร์กิ่งทอง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า ประชาชนในจังหวัดสงขลาติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นของกลุ่มโรฮิงญา 1-2 วันต่อสัปดาห์ มากที่สุด (ร้อยละ 39.07 ) รองลงมา ติดตามข่าวโรฮิงญา 3-4 วันต่อสัปดาห์ (ร้อยละ 34.96 ) และติดตามมากกว่า 5 วันขึ้นไป (ร้อยละ 19.79)
ทั้งนี้ ประชาชนเห็นว่าการอพยพย้ายถิ่นของกลุ่มโรฮิงญาส่งผลกระทบต่อชีวิตในระดับปานกลาง (ร้อยละ 46.35) และปัญหาแรงงานต่างด้าวกระทบต่อชีวิตในระดับปานกลาง (ร้อยละ 39.35) ส่วนปัญหาแรงงานในจังหวัดสงขลา พบว่า ประชาชนเห็นว่าปัญหาการอพยพย้ายถิ่นของโรฮิงญา มากที่สุด (ร้อยละ 36.59) รองลงมา เป็นปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพแรงงานและปัญหาการค้ามนุษย์ คิดเป็นร้อยละ 16.04 และ 15.29 ตามลำดับ
ประชาชนเห็นว่าการประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 จะไม่ช่วยแก้ปัญหาและทำให้สถานการณ์เหมือนเดิม (ร้อยละ 58.69) และเห็นว่ามีแนวโน้มของปัญหาดีขึ้น (ร้อยละ 26.70) และมีแนวโน้มของปัญหาแย่ลงกว่าเดิม (ร้อยละ 14.61)
ประชาชนในจังหวัดสงขลาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการมีศูนย์พักพิงชาวโรฮิงญาในประเทศไทย (ร้อยละ 58.00) นอกจากนี้ประชาชนเห็นว่าประเทศเมียร์มาร์ สมควรจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวชาวโรฮิงญา มากที่สุด (ร้อยละ 27.89) รองลงมา คือ ประเทศมาเลเซีย (ร้อยละ 26.05) และประเทศอินโดนีเซีย (ร้อยละ 18.95) มีเพียงร้อยละ 8.95 ที่เห็นว่าประเทศไทยมีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวชาวโรฮิงญา ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการอพยพย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญา พบว่า สหประชาชาติควรหาประเทศที่สามให้ชาวโรฮิงญา มากที่สุด (ร้อยละ 49.35) รองลงมา คือ พม่าและบังคลาเทศควรมีการพิสูจน์สัญชาติชาวโรฮิงญา และไทยควรเอาผิดกับ กลุ่มค้ามนุษย์อย่างรุนแรง คิดเป็นร้อยละ 31.01 และ 19.64 ตามลำดับ