เปิดงาน World HAPEX 2022 "ฮาลาลเพื่อสุขภาพหลังวิกฤติโควิด-19" ม.อ.ผนึกกำลัง 4 หน่วยงานลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนงานด้านฮาลาล
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสถาบันฮาลาล เปิดงานแสดงสินค้าและการประชุมสัมมนานานาชาติด้านฮาลาล 2565 (World HAPEX 2022) ภายใต้แนวคิด "ฮาลาลเพื่อสุขภาพหลังวิกฤติโควิด-19" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 - 14 สิงหาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยได้รับเกียรติจาก นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน พร้อมด้วย ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายอับดุลรอหมาน กาเหย็ม ผู้แทนเลขาธิการ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รศ.ดร.อิสมาแอ อาลี รองประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ผู้แทนจุฬาราชมนตรี ผศ.ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจเข้าร่วมงาน
สำหรับการจัดงานแสดงสินค้าและการประชุมสัมมนานานาชาติด้านฮาลาล หรือ World HAPEX ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 10 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความสามารถและสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการฮาลาลไทยสู่ตลาดฮาลาลโลก รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านวิชาการฮาลาลให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการเชิงสุขภาพด้านสินค้าและบริการฮาลาลในยุค COVID-19
ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ ปาฐกถาพิเศษ "ฮาลาลเพื่อสุขภาพหลังวิกฤตโควิด-19" โดย ดร.ซอฟวาน มูฮัมหมัด ริฎอ อาลี อุฎอยบาต มุฟตีย์ และผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบและรับรองด้านชารีอะห์ สำนักวินิจฉัยข้อชี้ขาดด้านศาสนา ประเทศจอร์แดน การเสวนาทางวิชาการจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงด้านฮาลาลทั้งในและต่างประเทศ การประชุมองค์กรความร่วมมือด้านฮาลาลระดับนานาชาติ ในส่วนภาคภาษาอังกฤษเสวนาในหัวข้อเรื่อง "ฮาลาลเพื่อสุขภาพหลังวิกฤติโควิด - 19 ในประเทศอาเซียน" (Online) ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพประเทศบูรไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย และภาคภาษาอาหรับ การเสวนาในหัวข้อเรื่อง "กิจการฮาลาลไทยและจอร์แดน" ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิประเทศจอร์แดน และบาห์เรน ในส่วนเสวนาภาษาไทย ได้แก่ หัวข้อ "มาตรฐานตอยยิบัน สู่การยกระดับผลิตภัณฑ์ฮาลาลชั้นพรีเมี่ยม และแนวทางการปรับตัวการท่องเที่ยวฮาลาลเชิงสุขภาพ หลังวิกฤตโควิด-19" การเปิดตัวหลักสูตรโลจิสติกส์ฮาลาล และกิจกรรม Halal Business Matching
นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนฮาลาล และมีการแสดงสินค้าจากผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ ประมาณ 200 ร้านค้า หลายหมวดหมู่สินค้า เช่น อาหารปรุงสด อาหารเครื่องดื่ม เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง ธุรกิจบริการ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา และการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของมุสลิมในภาคใต้ การแข่งขันอนาชีด การแข่งขันชาชัก และการแข่งขันอาหารฮาลาล เป็นต้น
พร้อมกันนี้ ในวันเดียวกันยังจัดให้มีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องหลักสูตรผู้ดำเนินการสปา ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และสถาบันฮาลาล กับ ชมรมธุรกิจบริการสุขภาพภาคใต้ (ตอนล่าง), การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง การบริการวิชาการและกิจการด้านฮาลาล ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย สถาบันฮาลาล กับ สมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 15 จังหวัดภาคใต้, การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและยกระดับการจัดการการท่องเที่ยวและบริการฮาลาลในประเทศไทย ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย สถาบันฮาลาล กับ สมาคมการค้าการท่องเที่ยวฮาลาลไทย-อาเซียน และ การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การจัดทำหลักสูตรและพัฒนาบุคลากรด้านฮาลาล การบริการจัดประชุมวิชาการและการแสดงสินค้าให้ถูกต้องตามหลักแนวปฏิบัติการจัดประชุมวิชาการ และงานแสดงสินค้าที่เป็นมิตรกับมุสลิม ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย สถาบันฮาลาล กับสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย