รมช.สาธารณสุข ชื่นชม สธ.สงขลา เร่งพัฒนานวัตกรรมการจัดการข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพ ขับเคลื่อนนโยบาย "ทีมหมอประจำครอบครัว"
( 27 ก.พ. 58 ) นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีการนำนโยบาย "ทีมหมอประจำครอบครัว" สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ ของเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอระโนด จ.สงขลา ณ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอระโนด และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าบอน อ.ระโนด จ.สงขลา โดยมีนายแพทย์ศิริชัย ลีวรรณนภาใส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายแพทย์ธนิศ เสริมแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดร่วมให้การต้อนรับโดยพร้อมเพรียงกัน
นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาระบบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง รวมถึงสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนตลอดช่วงชีวิต หรือทุกกลุ่มวัย และสนับสนุนการพัฒนาทีมหมอประจำครอบครัว( Family care team ) เพื่อดูแลประชาชนทุกครัวเรือนในเขตชนบท ซึ่งในการตรวจเยี่ยมเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอระโนดในวันนี้ พบว่า มีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพ เกิดเป็นนวัตกรรมการจัดบริการสุขภาพ "ระโนดโมเดล" ที่ผสมผสานด้านการเยี่ยมบ้าน ทำให้สามารถเยี่ยมบ้านได้ครอบคลุมประชาชนผู้รับบริการทุกกลุ่มวัย โดยมีทีมหมอประจำครอบครัวร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาพให้การสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนผู้รับบริการและครอบครัว ให้สามารถดูแลตนเอง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ให้หายจากความเจ็บป่วยกลับคืนสู่ภาวะปกติ มีสุขภาพดีหรือใกล้เคียงภาวะปกติมากที่สุด
และที่สำคัญ มีการนำโปรแกรมการจัดการข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพ ไปพัฒนาต่อยอดจนเป็นนวัตกรรมการจัดการข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริการของ อ.ระโนด โดยใช้ชื่อ J-Map และ J-Print ซึ่งนำมาใช้ในการจัดการระบบเยี่ยมบ้านที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการลดความซ้ำซ้อนในการบันทึกข้อมูล เกิดความสะดวกในการควบคุมกำกับและติดตามผลการดำเนินงาน เช่น การใช้โปรแกรม J-Map สามารถแสดงผลในรูปแบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเห็นพิกัดของหลังคาเรือนและลักษณะสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยของกลุ่มเป้าหมายที่ลงไปเยี่ยมบ้าน และยังใช้ในการตรวจสอบผลการดำเนินงานความครอบคลุมการคัดกรองโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน เป็นต้น ส่วนการใช้โปรแกรม J-Print ทำให้เกิดความรวดเร็วและถูกต้องในการพิมพ์ใบสั่งยาและฉลากยาแก่ผู้ป่วยที่มารับบริการ และสามารถพิมพ์รายละเอียดการเยี่ยมบ้านเพื่อนำไปติดในแฟ้มครอบครัว เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดบริการประชาชนต่อไป
นอกจากนี้ การนำโปรแกรม J-Map และ J-Print มาจัดการระบบข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพ ยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอื่นๆ รวมทั้ง การควบคุมป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขภาพ ส่งผลทำให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึง ลดการรอคอย เพิ่มเวลาในการพบแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งผลการดำเนินการในปีงบประมาณ 2557 ประชาชนอำเภอระโนดเกิดความพึงพอใจระดับมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 98 ส่วนเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการทั้งอำเภอระโนด มีความพึงพอใจ ร้อยละ 99 (จากการประเมินผลของสถานบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิทุกแห่งของอ.ระโนด)
สำหรับการใช้โปรแกรมการจัดการข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริการสุขภาพของอำเภอระโนด หรือ J-Map และ J-Print นั้น ได้เป็นต้นแบบที่จังหวัดสงขลาส่งเสริมให้ใช้ในทุกสถานบริการสาธารณสุขในระดับปฐมภูมิ และปัจจุบัน ได้มีการขยายการส่งเสริมการใช้โปรแกรมดังกล่าวในทุกจังหวัดของเขตบริการสุขภาพที่ 12 แล้ว( ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล ตรัง พัทลุง และสงขลา)
ข้อมูลและที่มา
สุธิดา พฤกษ์อุดม / สวท.สงขลา 27-02-58