หาดใหญ่โพล เปิดผลสำรวจการเฝ้าระวังภาวะเศรษฐกิจ
ชี้ชาวบ้านหวังรัฐบาลแก้ปัญหาปากท้อง-บ้านเมืองสงบสุข
หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ ความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดสงขลาเกี่ยวกับการเฝ้าระวังภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เดือนมีนาคม –พฤษภาคม 2559 การสำรวจครั้งนี้ได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชน จำนวน 400 คน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กอแก้ว จันทร์กิ่งทอง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า
ประชาชนในจังหวัดสงขลาส่วนใหญ่มีรายได้มากกว่ารายจ่าย (ร้อยละ 38.29 ) ในขณะที่ร้อยละ 31.74 มีรายได้เท่ากับรายจ่าย และประชาชนที่มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ (มีหนี้สิน) คิดเป็นร้อยละ 29.97 ทั้งนี้ประชาชนกลุ่มที่มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ส่วนใหญ่มีหนี้สินไม่เกิน 50,000 บาท มากที่สุด (ร้อยละ 60.98) รองลงมา มีภาระหนี้สิน 50,001 - 100,000 บาท และมีภาระหนี้สิน 100,001 - 150,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 15.85 และ 14.63 ตามลำดับ เมื่อสอบถามถึงค่าใช้จ่ายที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน พบว่า ประชาชนเห็นว่าเป็นค่าเล่าเรียนบุตรหลานส่งผลกระทบต่อรายจ่ายมากที่สุด (ร้อยละ 35.84) รองลงมา คือ ค่าอาหาร (ร้อยละ 23.10) และค่าไฟฟ้า (ร้อยละ 14.79) ตามลำดับ
ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 38.29 สามารถเก็บเงินในแต่ละเดือนได้ โดยที่ประชาชนสามารถออมเงินได้แต่ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน มากที่สุด (ร้อยละ 28.10) รองลงมา ออมเงินได้ 3,001-5,000 บาทต่อเดือน และออมเงินได้ 5,001-10,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 23.97 และ 20.66 ตามลำดับ ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 61.71 ไม่สามารถออมเงินได้
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพรวมของปัญหาต่างๆ พบว่า ประชาชนในจังหวัดสงขลาเห็นว่าภาพรวมของปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง มีคะแนนเฉลี่ย 4.32 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน) และเมื่อพิจารณาตามประเด็นของปัญหา พบว่า ประชาชนเห็นว่าในรอบ 3 เดือน ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง เป็นปัญหาที่สำคัญมากที่สุด มีคะแนนเฉลี่ย 4.77 คะแนน รองลงมา คือ ปัญหาความขัดแย้งของบุคคลภายในครัวเรือน ปัญหาสุขภาพของบุคคลในครัวเรือน ปัญหายาเสพติด ปัญหาวัยรุ่น/บุตรหลาน และปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีคะแนนเฉลี่ย 4.59 4.57 4.48 4.46 และ 4.42 ตามลำดับ โดยทุกๆ ประเด็นที่กล่าวมามีปัญหาในระดับปานกลาง
เมื่อสอบถามความต้องการของประชาชนในการแก้ไขปัญหา ประชาชนต้องการให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ดำเนินการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนมากที่สุด (ร้อยละ 34.17) รองลงมา คือ ปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ร้อยละ 29.15) ปัญหาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ร้อยละ 27.14) ปัญหาการท่องเที่ยว (ร้อยละ 24.87) และปัญหาหนี้สินและความยากจนของเกษตรกร (ร้อยละ 23.37) ตามลำดับ
เมื่อสอบถามถึงประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการมีรัฐธรรมนูญใหม่จะทำให้การเมืองดีขึ้น (ร้อยละ 51.89) แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างอิสระเสรี (ร้อยละ 67.17) โดยให้เหตุผลว่าหากมีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญได้จะทำให้สังคมไทยเกิดความแตกแยกของประชาชน มากที่สุด