Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

Menu

Show posts

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Show posts Menu

Messages - สงขลามีเดีย

#46
มรภ.สงขลา เปิดบ้านต้อนรับ มรภ.พิบูลสงคราม ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานและบริหารจัดการสหกิจศึกษา
         เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) พร้อมด้วย รศ.ดร.วีระชัย แสงฉาย รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและงบประมาณ ผศ.นาถนเรศ อาคาสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพการศึกษา อาจารย์วันฉัตร จารุวรรณโน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน ตลอดจนหัวหน้างาน และบุคลากรสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มรภ.สงขลา ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารและบุคลากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (มรภ.พิบูลสงคราม) จ.พิษณุโลก นำโดย ผศ.ดร.ชุมพร เสมาขันธ์ อธิการบดี มรภ.พิบูลสงคราม ในโอกาสเดินทางมาศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานและบริหารจัดการสหกิจศึกษา ณ ห้องประชุมพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ชั้น 7 อาคารอำนวยการ มรภ.สงขลา
          ทั้งนี้ อาจารย์วันฉัตร จารุวรรณโน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน ได้นำเสนอผลการดำเนินงานของศูนย์สหกิจศึกษา ระบบสารสนเทศสหกิจศึกษาออนไลน์ ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินงาน การบริหารจัดการงานด้านสหกิจศึกษา ซึ่งเป็นรูปแบบการผสมผสานระหว่างความรู้ที่ใช้ในห้องเรียนกับการทำงานที่ใช้ประสบการณ์จริง รวมทั้งการบริหารงาน
#47
มรภ.สงขลา ลงนามความร่วมมือ "Universitas Muhammadiyah Makassar" อินโดนีเซีย เตรียมแลกเปลี่ยนนักศึกษา-อาจารย์-วิชาการ
      มรภ.สงขลา ลงนามความร่วมมือ Universitas Muhammadiyah Makassar ประเทศอินโดนีเซีย พร้อมหารือแนวทางดำเนินกิจกรรม เตรียมแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ ความรู้ทางวิชาการร่วมกันในอนาคต
      เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ผศ.นาถนเรศ อาคาสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ได้รับมอบหมายจาก รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา เป็นตัวแทนลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับคณะผู้บริหารจาก Universitas Muhammadiyah Makassar ประเทศอินโดนีเซีย ณ ห้องประชุมอรัญ ธรรมโน ชั้น 8 อาคารอำนวยการ โดยมี ผศ.ดร.ศรุติพงศ์ ภูวัชร์วรานนท์ คณบดีคณะครุศาสตร์ เป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยคณาจารย์และเจ้าหน้าที่สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มรภ.สงขลา ร่วมให้การต้อนรับ
        โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือด้านวิชาการและด้านอื่น ๆ ที่จะดำเนินการร่วมกันต่อจากนี้ โดยเฉพาะด้านการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ ความรู้ทางวิชาการ และกิจกรรมความร่วมมืออื่น ๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน อันจะนำไปสู่การลงนาม MOA ในอนาคต
#48
มรภ.สงขลา จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
วันที่ 3 มิถุนายน 2566 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 3 มิถุนายน 2566 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ฯ โดยมี ผศ.พิเชษฐ์ จันทวี รองอธิการบดี รักษาราชการแทนอธิการบดี มรภ.สงขลา เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา มรภ.สงขลา เข้าร่วมกิจกรรม ภายในงานมีพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะ และพิธีจุดเทียนถวายชัยมงคล เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
#49
                                          เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา
                            สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
                                                    ๓ มิถุนายน ๒๕๖๖

                                                     ทรงพระเจริญ

                                    ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า
                          บริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด  (TTM)
#50
มรภ.สงขลา จัดอบรมสร้างเครือข่ายการทำงานกับชุมชนและภาคส่วนต่าง ๆ (ควท.) หนุนอาจารย์ทำงานวิจัยกับท้องถิ่นมากขึ้น     

คณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา จัดอบรมสร้างเครือข่ายการทำงานกับชุมชนและภาคส่วนต่าง ๆ (ควท.) ส่งเสริมอาจารย์ทำงานวิจัยกับท้องถิ่นมากขึ้น พร้อมมีทักษะออกแบบและสร้างสรรค์งานวิจัยตามกรอบที่ท้องถิ่นต้องการ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การสร้างเครือข่ายการทำงานกับชุมชนและภาคส่วนต่าง ๆ (ควท.)" ในวันที่ 13 มิถุนายน 2566 (ปิดรับลงทะเบียนวันที่ 5 มิถุนายน 2566) ณ ห้องประชุมวิชัย รัตนากีรณวร ชั้น 2 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา วิทยากรโดย นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้อาจารย์ทำงานวิจัยกับชุมชน และมีเครือข่ายการทำงานวิจัยกับชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 30 คน มีทักษะในการออกแบบและสร้างสรรค์งานวิจัยตามกรอบที่ท้องถิ่นต้องการ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ถือเป็นการสร้างพลังประสานความร่วมมือกับชุมชนให้ทำงานร่วมกับสถานศึกษา โดยนำเอาจุดแข็งและความพร้อมของบุคคลและทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาสร้างสรรค์จนเกิดประโยชน์สูงสุด

ผศ.ดร.ทวีสิน นาวารัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา ผู้เสนอโครงการ กล่าวว่า เครือข่าย (Network) คือ การเชื่อมโยงของคน กลุ่มของคน หรือกลุ่มองค์กรที่สมัครใจที่จะแลกเปลี่ยนข่าวสารร่วมกันหรือทำกิจกรรมร่วมกัน ภายใต้เป้าหมายและวิธีการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีการจัดระเบียบโครงสร้างของคนในเครือข่ายด้วยความเป็นอิสระเท่าเทียมกันภายใต้พื้นฐานของความเคารพสิทธิ เชื่อถือ เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

นอกจากนั้น เครือข่ายยังหมายถึงสมาชิกที่มีเครือข่ายย่อย ๆ อยู่ข้างหลังและพร้อมที่จะเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะต่าง ๆ ตามจังหวะ โอกาส และประเด็นที่สนใจแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและบริหารเครือข่าย การรวมพลัง (Synergy) เพื่อมุ่งหวังให้สถานศึกษาได้มีการจัดการศึกษาให้ตรงตามความต้องการของชุมชน และได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางหรือวิธีการในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชน เพื่อเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ของสถานศึกษาต่อไป
#51
ตำนานพิธีลอดซุ้มประตูป่าวันวิสาขาบูชา "วัดห้วยหลาด" รัตภูมิ

พิธีลอดซุ้มประตูป่า "วันวิสาขบูชา" ประเพณีท้องถิ่นหนึ่งเดียวที่ "วัดห้วยหลาด" ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา  ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนานกว่า 68 ปี

"รัตภูมิ" เป็นอำเภอเก่าแก่แห่งหนึ่งของสงขลา ได้ชื่อว่าเป็นประตูสู่ชายแดนใต้ เพราะในการเดินทางมาสู่ภาคใต้นั้น ถนนเพชรเกษม ที่เชื่อมต่อจากพัทลุงมาสู่สงขลาอยู่ที่อำเภอรัตภูมิ การเดินทางโดยรถไฟก็เข้าสู่จังหวัดสงขลาในเขตอำเภอรัตภูมิ เพียงแต่ปัจจุบันมีการแบ่งพื้นที่ตั้งเป็นอำเภอควนเนียงทำให้การเดินทางโดยรถไฟไปอยู่ควนเนียงแทน แต่ทั้ง 2 อำเภอก็ยังเป็นหนึ่งเดียวแยกกันเพียงชื่อเขตการปกครองเท่านั้น 

"วัดห้วยหลาด" เป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่ประจำอำเภอรัตภูมิ ชัยภูมิที่ตั้งอยู่ติดคลองภูมี ฝั่งวัดอยู่เขตตำบลคูหาใต้ ส่วนอีกฝั่งคลองเป็นเขตตำบลกำแพงเพชร และพื้นที่ไม่ไกลกันก็เป็นเขตตำบลควนรู ทำให้วัดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธในพื้นที่อย่างแท้จริง ความโด่ดเด่นอย่างหนึ่งของวัดแห่งนี้ คือ พิธีกรรมทางพุทธศาสนา ที่เรียกว่า "พิธีลอดซุ้มประตูป่า" ซึ่งเป็นงานที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนานกว่า 68 ปี โดยเหล่าพุทธบริษัทในพื้นที่รวมถึงผู้ศรัทธาจากพื้นที่ใกล้เคียงจะร่วมกันจัดงาน ในวันเพ็ญเดือนหกซึ่งตรงกับ "วันวิสาขบูชา" ของทุกปี

ตามข้อมูลที่เล่าสืบต่อกันมาบันทึกว่า "พิธีลอดซุ้มประตูป่า" เป็นพิธีที่ได้คำชี้แนะมาจาก "หลวงปู่สีมั่น เทพอินโท" ที่ได้ลงมาประทับทรงในร่างของพระอธิการขาว ติสฺสวํโส หรือ หลวงปู่ขาว เจ้าอาวาสวัดรูปที่ 3 โดยให้มีพิธีลอดซุ้มประตูป่า เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลให้ญาติโยมที่มาร่วมทำบุญที่วัด ซึ่งจะมีการลงแรงของชาวบ้านในการสร้างซุ้มประตูป่าขึ้นมา เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้ลอด พร้อมกับให้พระภิกษุสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ พิธีนี้ถอดแบบมาจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยพระพุทธกาล ที่เมืองเวสาลี ครั้งนั้นเกิดโรคภัย ข้าวยากหมากแพง ประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัส ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการอัญเชิญสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาช่วยปัดเป่าขจัดทุกข์ภัยที่เกิดขึ้น พระพุทธองศ์ได้สั่งให้พระอานนท์นำบาตรมาใส่น้ำประกอบพิธี ทำน้ำพระพุทธมนต์ ประพรมให้กับประชาชน ทำให้เกิดกำลังใจ พ้นจากทุกข์ จากโรคภัย ภยันตราย มนต์ดำต่างๆ

หลวงปู่สีมั่น เทพอินโท ตามประวัติบันทึกว่าเป็นพระภิกษุในยุคเดียวกับหลวงปู่ทวด ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เดินธุดงค์จากจังหวัดเพชรบุรี มาถึง ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นป่าเต็มไปด้วยความสงบจึงปักกลด กระทั่งมีชาวบ้านมาช่วยกันสร้างเสนาสนะ จนกลายเป็นวัด ก่อนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2478 และผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2482 "หลวงปู่สีมั่น เทพอินโท" พระผู้เป็นดั่งปฐมบทของวัดห้วยหลาด และมีการหล่อรูปเหมือนประดิษฐานภายในวิหาร และจะมีการอัญเชิญขึ้นสู่เบญจาให้ญาติโยมได้สรงน้ำ และปิดทองรูปเหมือนได้ปีละครั้งในช่วงพิธีลอดซุ้มประตูป่าเท่านั้น

"วัดห้วยหลาด" สืบต่อปฏิบัติกันมาทำให้ลอดซุ้มประตูป่า เป็นประเพณีประจำปีของทางวัดมาอย่างยาวนาน ในสมัยของ"พระครูโกวิทธรรมสาร" หรือ "อาจารย์กลาย" อดีตเจ้าคณะอำเภอรัตภูมิ และอดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยหลาด พิธีลอดซุ้มประตูป่าได้เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น มีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ ให้ความสนใจร่วมพิธีเป็นจำนวนมากในทุกปี เมื่อสิ้นอายุขัยพ่อท่านกลายในปี พ.ศ.2559 พระปลัดวรวิท ไสยะ ผู้เป็นศิษย์ใกล้ชิดได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เป็นผู้สืบทอดพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ให้อยู่คู่วัดห้วยหลาดสืบต่อมาในทุกปี

ทั้งนี้ พิธีลอดซุ้มประตูป่าในปีนี้ตรงวันที่ 3 มิถุนายน 2566 โดยมีพิธีกรรม 2 วัน ดังนี้
- วันที่ 2 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00 น. พิธีแห่รูปเหมือนหลวงปู่สีมั่น เทพอินโท และบูรพาจารย์ออกจากวิหารขึ้นเบญจาสรงน้ำ ญาติโยมร่วมสรงน้ำได้ตลอดทั้งวัน กลางคืนมีการแสดงมโนราห์คำรณน้อยวิเชียรศิลป์
- วันที่ 3 มิถุนายน 2566 พิธียกครูบูชาคุณ การถวายมหาสังฆทานร่วมกันก่อนเข้าสู่พิธี "ลอดซุ้มประตูป่า" โดยเจ้าอาวาสวัดห้วยหลาด นำขบวนลอดซุ้มป่าผ่านไปก่อนแล้วจึงไปนั่งเจริญพระพุทธมนต์และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้ญาติโยม ขณะเดียวกันพระภิกษุสงฆ์จะสวดมนต์เพื่ออวยพรชัย เพื่อเป็นการเสริมสิริมงคล เพื่อปัดเป่าอัปมงคล โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ให้ผู้ร่วมพิธี และปิดทองรูปเหมือนบูรพาจารย์ของวัดห้วยหลาด

"พิธีลอดซุ้มประตูป่า" เกิดจากพลังศรัทธาของสาธุชนจำนวนมากที่มาร่วมพิธีด้วยการสร้างซุ้มด้วยกันคนละไม้คนละมือ ช่วยกันตระเตรียมงานต่างๆ ก่อนถึงวันเริ่มพิธีเป็นแรมเดือน และยังมีการบวชเนกขัมมะหรือชีพราหมณ์ ทั้งบุรุษ ทั้งสตรี จะร่วมบวชปฏิบัติธรรมเป็นเวลา 3 วัน เพื่อเป็นการสะสมบุญและสร้างสิริมงคลแก่ตนเองด้วย

สาระน่ารู้เกี่ยวกับพิธีขึ้นเบญจา
เบญจาหรือเบญจะ แปลว่าองค์ 5 ประการ มีหลักธรรมสอดแทรก ความเชื่อโบราณเรื่องเทพเจ้าหรือสิ่งที่เคารพสูงสุดเปรียบเทียบเบญจา เหมือนกับเขาพระสุเมรุที่มีเทพเจ้าสูงสุดดูแลรักษาอยู่ ในโบราณเมื่อให้ความเคารพนับถือบุคคลใดก็จะยกเบญจาเพื่อบูชาบุคคลนั้น ผู้ที่จะนั่งเบญจาหรือยกเบญจาได้นั้นต้องมีบุญมีวาสนามีบารมี การยกเบญจาของวัดห้วยหลาด เป็นเบญจายอดแรกของอำเภอรัตภูมิ คณะสงฆ์และศิษย์ยานุศิษย์ พร้อมทั้งพุทธศาสนิกชนชาวบ้านมีความเคารพนับถือในหลวงปู่สีมั่น พ่อท่านสุข และพระอาจารย์พระครูโกวิทธรรมสาร เป็นอันมากจึงยกเบญจาถวายใช้งบพอสมควรเพื่อเชิดชูบูชาคุณและเป็นการสอนธรรมะในรูปแบบของปรัชญาท้องถิ่น
เบญจา แปลว่าองค์ 5 ซึ่งเลข 5 นั้นเป็นเลขตัวแทนของครูบาอาจารย์ หรือหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเรียกว่าภาระธรรม 5 ประการ มี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา หรือจะเป็นเบญจขันธ์ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ หรือศีล 5 เป็นต้น มีชั้นสามารถเดินทำประทักษิณได้ 3 ชั้น มาจากหลักธรรมในธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรเรียกว่า ปริวัตร 3 มีเสารอบนอก 12 เสา ก็มาจากธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรเรียกว่าอาการ 12 มีเสาชั้นในที่รองรับหลังคาเบญจา 8 เสา เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8 และมีปริศนาธรรมอีกมากมาย

เพจ รัตภูมิเมืองมีตำนาน รวบรวม/รายงาน
#52
มรภ.สงขลา รับสมัครนักศึกษา ป.โท สาขาหลักสูตรและการสอน สำหรับผู้ขอรับใบประกอบและผู้ไม่ขอรับใบประกอบวิชาชีพครู สมัครได้ตั้งแต่บัดนี้-5 มิ.ย. 66

คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ปีการศึกษา 2566 ระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท) หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาหลักสูตรและการสอน ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีวิชาเอกย่อยรองรับ สำหรับ "ผู้ที่ขอรับใบประกอบ และ ผู้ที่ไม่ขอรับใบประกอบวิชาชีพครู" เข้าศึกษาในภาคปกติและภาคพิเศษในสาขาวิชาเอก ดังต่อไปนี้ 1. หลักสูตรการสอน และการเรียนรู้ 2. การประถมศึกษา 3. การสอนภาษาอังกฤษ 4. การสอนภาษาไทย

ผู้สนใจสามารถสมัครออนไลน์ได้ตั้งแต่บัดนี้-วันที่ 5 มิถุนายน 2566 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เพจหลักสูตรและการสอน มรภ.สงขลา หรือ โทร. 081-8981650
#53
มรภ.สงขลา เข้ารับถ้วยรางวัลพระราชทาน รางวัลที่ 2 รางวัลความถูกต้องเรียบร้อย/การอ่านจังหวะสม่ำเสมอ ในการแข่งขันเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคใต้

มรภ.สงขลา เข้ารับถ้วยรางวัลพระราชทาน รางวัลที่ 2 รางวัลความถูกต้องเรียบร้อย/การอ่านจังหวะสม่ำเสมอ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคใต้ ในการแข่งขันการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ มอบถ้วยรางวัลพระราชทานในการแข่งขันการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง

ในการนี้ รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) พร้อมด้วย อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา ผู้ติดตาม เข้ารับถ้วยรางวัลพระราชทาน รางวัลที่ 2 รางวัลความถูกต้องเรียบร้อย / การอ่านจังหวะสม่ำเสมอ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคใต้ ซึ่งได้จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรขึ้นระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2565 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
#54
มรภ.สงขลา ร่วมบันทึกเทปถวายพระพร เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร มรภ.สงขลา ร่วมบันทึกเทปถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
#55
"เกษตร" มรภ.สงขลา ลงนามความร่วมมือ "บ.กฤษฎิ์สมัย-นิรวาณ คาเฟ่" จัดการศึกษาเชิงบูรณาการ ฝึกปฏิบัติงานจริงตามวิชาชีพ

คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา เดินหน้าลงนามความร่วมมือสถานประกอบการ ผนึกกำลังบริษัท กฤษฎิ์สมัยฯ และ ร้านนิรวาณ คาเฟ่ จัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการตามสาขาวิชาชีพ ควบคู่จัดการเรียนการสอนด้านสหกิจศึกษา ปูทางสู่การผลิตกำลังคนสอดคล้องความต้องการภาคธุรกิจเกษตร

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำโดย อาจารย์ ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร และ ผศ.ดร.ศุภัครชา อภิรติกร ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาการเรียนรู้แบบบูรณาการกับการทำงานในสถานประกอบการ (Memorandum of Understanding : MOU) ร่วมกับ บริษัท กฤษฎิ์สมัย จำกัด นำโดย นายดิเรกฤทธิ์ พลายด้วง ผู้จัดการบริษัทฯ นายพิศิษฐ์ ประจักษ์บุญเจษฎา ผู้ช่วยผู้จัดการ และ ร้านนิรวาณ คาเฟ่ นำโดย นายศุภชัย รักขา เจ้าของกิจการ ณ ห้องประชุมสำนักงานคณบดี ชั้น 2 อาคารคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ซึ่งทางคณะฯ และสถานประกอบการมีเจตจำนงร่วมกันในการพัฒนาการเรียนรู้แบบบูรณาการกับการทำงานในสถานประกอบการ และความร่วมมือทางวิชาการ งานวิจัย ตลอดจนงานบริการวิชาการ

การลงนามความร่วมมือระหว่างกันในครั้งนี้ มีสาระสำคัญและขอบข่ายการปฏิบัติที่ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกัน ดังนี้ 1. เพื่อประสานความร่วมมือในการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการระหว่างการเรียนรู้ในสถานศึกษากับการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการตามสาขาวิชาชีพ การจัดการเรียนการสอนด้านสหกิจศึกษา และการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative and Work Integrated Education : CWIE) 2. เพื่อผลิตกำลังคน พัฒนาศักยภาพทางทักษะวิชาชีพ และเสริมสร้างประสบการณ์วิชาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจเกษตร 3. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัยงานสร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมและการดำเนินกิจกรรมด้านอื่น ๆ เช่น การฝึกอบรม และการบริการวิชาการแก่สังคม เป็นต้น ตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นสมควร
#56
คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา ลงพื้นที่ชุมชนบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว หนุนทำประมงเชิงอนุรักษ์ พัฒนาต้นแบบธนาคารปูม้าในรูปแบบคอนโดปู เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจฐานราก เสริมความมั่นคงทางทรัพยากร

วันที่ 17-18 พฤษภาคม 2566 ดร.กันตภณ มะหาหมัด คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา นำคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา จัดโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ให้กับชุมชนฐานราก ให้แก่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ชุมชนบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา ในกิจกรรม "ชุมชนต้นแบบการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ชุมชนเกาะแต้ว ปีที่ 4" และกิจกรรม "การอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาธนาคารปูม้าโดยการมีส่วนร่วมของชาวประมงพื้นบ้าน" เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการสร้างธนาคารปูสู่การอนุรักษ์พันธ์ปูม้า ในการคัดเลือกแม่พันธุ์ การรวบรวมไข่ และการอนุบาลลูกปู วิทยากรโดย นายชำนาญ มานิล ผู้จัดการศูนย์เรียนรู้เพาะฟักลูกปูบ้านหัวเขา การฝึกปฏิบัติการการจัดการคุณภาพแหล่งน้ำเพื่อการเจริญของปู โดย ผศ.คุลยา ศรีโยม รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และฝึกปฏิบัติการวิเคราะห์ต้นทุน การจัดเก็บข้อมูลรายได้ เสริมสมรรถนะนวัตกรชุมชน โดย ดร.ผจงจิต พิจิตบรรจง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และ ผศ.ดร.วนิดา เพ็ชร์ลมุล อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ โดยมีผู้นำชุมชน รองนายกเทศมนตรีตำบลเกาะแต้ว ชาวประมงในพื้นที่ และนักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรม

ดร.กันตภณ มะหาหมัด คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชบรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จึงน้อมนำหลักการทรงงานของพระองค์ท่านมาเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับรายได้ของประชาชน แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทย และยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ 20 ปี (2560-2579) ที่มุ่งเน้นให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประชาชน

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา มีเป้าหมายเพื่อให้คนในชุมชนสามารถดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับการส่งเสริมการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากบนฐานทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ยกระดับคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างรายได้ นำไปสู่การพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน ทั้งนี้ ทางคณะฯ ได้จัดทำโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยส่งเสริมให้บุคลากร นักวิชาการที่มีศักยภาพในแต่ละศาสตร์สาขาไปร่วมให้บริการวิชาการแก่ชุมชน เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก และหน่วยงานในพื้นที่ชุมชนสู่การเป็นชุมชนต้นแบบ ซึ่งชุมชนต้นแบบที่ทางคณะฯ ได้ให้บริการวิชาการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 คือ ชุมชนเกาะแต้ว โดยในปี พ.ศ.2566 ได้ขยายพื้นที่บริการวิชาการยกระดับคุณภาพชีวิตสู่การเป็นชุมชนต้นแบบไปยังบ้านบ่ออิฐ หมู่ 8 ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา

ด้าน ผศ.คุลยา ศรีโยม รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำประมงเชิงอนุรักษ์โดยการสร้างต้นแบบธนาคารปูม้าในรูปแบบคอนโด รวมทั้งเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการทำประมงเชิงอนุรักษ์ ซึ่งบ้านบ่ออิฐเป็นชุมชนที่ทำประมงพื้นบ้าน คนในชุมชนบริโภคอาหารที่ได้จากการประมง และถนอมอาหารไว้รับประทานหรือเพื่อขาย เช่น ทำปลาเค็ม ปลาตากแห้ง มีวิถีชีวิตที่เน้นการอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสร้างห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วม จากการให้ข้อมูลของกลุ่มชาวประมงในพื้นที่พบว่า กลุ่มประมงบ้านบ่ออิฐจำนวนไม่น้อยกว่า 15 ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยจากการจำหน่ายปูม้าลดลงจาก 500 บาทเหลือเพียง 300 บาทต่อวัน อันเนื่องมาจากปริมาณปูในพื้นที่ลดลงเป็นอย่างมาก

ดังนั้น นอกจากการรณรงค์ให้หลีกเลี่ยงวิธีการจับสัตว์น้ำแบบผิดวิธี ไม่จับในช่วงวางไข่ หรือไม่ใช้เครื่องมือต้องห้ามแล้ว ควรสร้างจิตสำนึกในการทำประมงเชิงอนุรักษ์ จัดสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน และการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่เขตอนุรักษ์ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่งทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ นายยุดี หมัดเจริญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 มุ่งหวังให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงด้วย จากข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นจุดกำเนิดให้คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการจัดโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมที่ยังคงคำนึงถึงผลลัพธ์ด้านความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น โดยสนับสนุนด้านวิชาการและปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานและองค์กรท้องถิ่นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสู่การเป็นชุมชนต้นแบบที่มีความอย่างยั่งยืนบนฐานทรัพยากรที่มี  จึงนำมาสู่การจัดกิจกรรมในครั้งนี้
#57
มรภ.สงขลา สัมมนาจัดทำหลักสูตรและชุดวิชาการจัดการธุรกิจสุขภาพและความงาม เดินหน้าศูนย์อัจฉริยะเพื่อพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ ปั้น นศ. สู่ผู้ประกอบการ

มรภ.สงขลา  นำอาจารย์-เจ้าหน้าที่สัมมนาจัดทำหลักสูตรและชุดวิชาการจัดการธุรกิจสุขภาพและความงาม พร้อมศึกษาดูงานเกาะสมุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคบริหารจัดการธุรกิจ ภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์อัจฉริยะเพื่อพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ ขับเคลื่อนนโยบายปั้นนักศึกษามีศักยภาพสู่ผู้ประกอบการท้องถิ่น

                สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดโครงการสัมมนาจัดทำหลักสูตรและชุดวิชาการจัดการธุรกิจสุขภาพและความงาม ภายใต้หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต และศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประกอบการและบริหารจัดการธุรกิจสุขภาพ สปาและความงาม (กิจกรรมที่ 1) ระหว่างวันที่ 10-13 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมไอบิส สมุย บ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.นาถนเรศ อาคาสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพการศึกษา มรภ.สงขลา กล่าวเปิดโครงการ และ อาจารย์วันฉัตร จารุวรรณโน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน กล่าวรายงานโครงการ โดยมีอาจารย์และเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการสัมมนารวม 34 คน

                ผศ.นาถนเรศ กล่าวว่า การพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) เป็นโครงการที่เริ่มต้นการปฏิรูประบบการศึกษา โดยการกําหนดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ เป็นการกําหนดเป้าหมาย และผลลัพธ์การดําเนินงานตามจุดเน้นเชิงยุทธศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีขึ้นไป เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศ และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีศักยภาพในการตอบโจทย์และขับเคลื่อนทุกภาคส่วนจนถึงการพลิกโฉมประเทศ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

                ทั้งนี้ มรภ.สงขลา มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จัดอยู่ในกลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นจำนวน 41 แห่ง โดย มรภ.สงขลา เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคใต้ 5 แห่ง ที่ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงการจัดสรรเงินอุดหนุนและการส่งมอบผลการดำเนินงาน ภายใต้โปรแกรม 16 โครงการปฏิรูประบบ อววน. แผนงานย่อย "การพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนขั้นสูง" โครงการพัฒนาศูนย์อัจฉริยะเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กับ มรภ.สงขลา เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์อัจฉริยะเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ ด้านพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่น ในการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนานักศึกษาของมหาวิทยาลัยให้มีศักยภาพเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน

                มหาวิทยาลัยจึงได้จัดตั้งศูนย์อัจฉริยะเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ ด้านพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อการผลิตบัณฑิตเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่น ตลอดจนการจัดทำชุดวิชาสาขาการจัดการธุรกิจสุขภาพและความงาม ภายใต้หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต พร้อมยกร่างระเบียบข้อบังคับว่าด้วยแนวทางการดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตในการผลิตหลักสูตรร่วมของมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคใต้ในส่วนของ มรภ.สงขลา

                ด้าน อาจารย์วันฉัตร กล่าวว่า การพัฒนาประเทศตามเป้าหมายวิสัยทัศน์เชิงนโยบายของประเทศที่มุ่งเน้นเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมให้เป็นแบบใหม่ เพื่อให้ประเทศได้มีโอกาสพัฒนาเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งโมเดลนี้จะสำเร็จได้ต้องใช้แนวทางสานพลัง โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชนประชาชน สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน สถาบันอุดมศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพ และความสามารถระดับสูงในสายวิชาการระดับมันสมองและวิชาชีพด้านต่าง ๆ

จากความสำคัญดังกล่าวสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียนจึงได้จัดโครงการในครั้งนี้ขึ้น โดยมีการสัมมนาในหัวข้อ "การจัดทำหลักสูตรแบบ SANDBOX การจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากเกณฑ์มาตรฐานการอุดมศึกษา" โดยวิทยากร ดร.พรเพ็ญ แซ่อึ้ง ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย และ นางสาวณัฐฐินันท์ ละลอกแก้ว นักพัฒนานโยบาย จากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กิจกรรมวิพากษ์ร่างชุดวิชาการจัดการธุรกิจสุขภาพและความงาม โดยวิทยากร ดร.นิศารัตน์ ไทยทอง อาจารย์ศันสนีย์ วงศ์สวัสดิ์ และ อาจารย์ศักดิ์อรุณ แก้วเถื่อน อาจารย์สาขาวิชาการจัดการโรงแรม โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาการท่องเที่ยวและสหวิทยาการสมุย วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) ร่วมวิพากษ์และให้ข้อมูลการพัฒนาแปรับปรุงชุดวิชาเพื่อสอดคล้องและตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน สถานประกอบการ และชุมชนพื้นที่

              นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับสถานประกอบการและสถาบันการศึกษาในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยได้เข้าศึกษาดูงานด้านการบริการสุขภาพ Wellness สปาและความงาม ณ โรงแรม Absolute Sanctuary และศึกษาดูงานโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาการท่องเที่ยวและสหวิทยาการสมุย ศูนย์การเรียนรู้การบริหารโรงแรมและท่องเที่ยวมุกสมุย วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นทางวิชาการด้านการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา และการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ CWIE ด้านบริหารธุรกิจ การจัดการ และการท่องเที่ยว 
#58
โรงไฟฟ้าจะนะเข้าจัดกิจกรรมจิตอาสาทาสีอาคารและรั้ว ณ ตาดีกา บ้านควนหัวช้าง

วันที่ 9 พฤษภาคม 2566  ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานและพนักงานจ้างเหมาโรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา จัดกิจกรรมจิตอาสาทาสีอาคารและรั้ว ณ ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) อิสลามธัญศึกษา บ้านควนหัวช้าง หมู่ที่ 6 ตำบลคลองเปียะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงบริเวณอาคาร ให้สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความพร้อมและมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการจัดการเรียนการสอน
#59
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงไฟฟ้าจะนะ ร่วมกับ ฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ (อสค.) และ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี ได้ดำเนินการตรวจวัดคุณภาพน้ำขาเข้าและขาออกจากโรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา รวมไปถึงตรวจวัดคุณภาพน้ำผิวดินและนิเวศวิทยาทางน้ำในคลองนาทับ ตามที่ได้กำหนดไว้ในมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความมั่นใจแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าจะนะ





#60
มรภ.สงขลา เปิดลงทะเบียนบัณฑิตเพื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปี พ.ศ. 2566 ตั้งแต่บัดนี้-31 พฤษภาคม 2566

มรภ.สงขลา เปิดให้บัณฑิตและมหาบัณฑิตที่สภาอนุมัติจบเดือนกรกฎาคม 2563 - ธันวาคม 2565 ลงทะเบียนเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปี พ.ศ. 2566 ได้ตั้งแต่บัดนี้-31 พฤษภาคม 2566

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ขอให้บัณฑิตและมหาบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาปีการศึกษา 2563-2564 ซึ่งสภาอนุมัติจบตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 - ธันวาคม 2565 (และบัณฑิตที่เลื่อนรับ บัณฑิตที่รายงานผล ATK) ลงทะเบียนเพื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปี พ.ศ. 2566 ได้ตั้งแต่บัดนี้-31 พฤษภาคม 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ https://std.skru.ac.th/e-graduate

ทั้งนี้ มรภ.สงขลา จะดำเนินการฝึกซ้อมย่อยระหว่างวันที่ 23-25 กันยายน 2566 และฝึกซ้อมใหญ่ในวันที่ 26 กันยายน 2566 ณ มรภ.สงขลา พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปี พ.ศ. 2566 วันที่ 28 กันยายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

สามารถติดตามประกาศต่าง ๆ เกี่ยวกับพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปี พ.ศ. 2566 ได้ทางเพจกองพัฒนานักศึกษา หรือเพจ มรภ.สงขลา