Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

ประสบการณ์คุณครูฝึกสอนมือใหม่ "ครูนิว" ทำไมถึงเลือกไปฝึกสอนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษา

เริ่มโดย สงขลามีเดีย, 11:31 น. วันที่ 17 08 62

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

สงขลามีเดีย

ประสบการณ์คุณครูฝึกสอนมือใหม่ "ครูนิว" ทำไมถึงเลือกไปฝึกสอนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษา

หลายต่อหลายคนคงมีคำถามว่า "ทำไมฉันถึงเลือกไปฝึกสอนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษา ไม่เลือกโรงเรียนระดับมัธยมซึ่งน่าจะสอนได้ง่ายกว่า" แต่สำหรับฉันแล้ว การที่เลือกไปฝึกสอนในระดับปวช.  ไม่ใช่เพราะมันดูท้าทายหรือเพราะเก่งอะไรนะคะ แต่ฉันเชื่อว่าการไปฝึกสอนที่นี่ จะทำให้ฉันได้รับอะไรหลาย ๆ อย่างจากการฝึกประสบการณ์ค่ะ และฉันยังเชื่ออีกว่าฉันน่าจะสามารถดึงเอาประสบการณ์นี้ไปประยุกต์ใช้ได้ในวันที่ก้าวเข้าสู่การทำงานจริงค่ะ

สวัสดีค่ะ พี่นิว นิสิตชั้นปีที่ 5 สาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะศึกษาศาสตร์ ม.ทักษิณ ค่ะ ขณะนี้พี่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา จังหวัดสงขลา รายวิชาที่รับผิดชอบในการสอนคือ ภาษาอังกฤษในชีวิตจริง สอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 1 (ปวช.1) จำนวน 6 แผนก ได้แก่ คอมพิวเตอร์ธุรกิจห้อง 1, คอมพิวเตอร์ธุรกิจห้อง 2, คอมพิวเตอร์กราฟิก, คหกรรมเพื่อการโรงแรม, เลขานุการ และอาหารและโภชนาการ และมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษานักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงชั้นปีที่ 1 (ปวส.1) แผนกการบัญชี ร่วมกับอาจารย์พี่เลี้ยง อีกด้วยค่ะ

ถ้าพูดถึงประสบการณ์ที่ได้ลงมือสอนจริง ๆ ก่อนมาฝึกสอนในวิทยาลัยฯ เรียกได้ว่าแทบไม่มีเลยค่ะ ส่วนใหญ่ที่พี่เคยสอน มักจะเป็นแค่นักเรียนคนเดียวที่สอนพิเศษ นักเรียนกลุ่มเล็ก หรือนักเรียนในระดับประถมศึกษาที่มีเพื่อนร่วมสอนด้วย หรือแม้แต่เพื่อนของพี่เองที่ทำหน้าที่เป็นนักเรียนในเวลาที่พี่สอบสอนหน้าชั้น ซึ่งความแตกต่างระหว่างประสบการณ์ที่มีกับสิ่งที่เผชิญในตอนฝึกสอนนั้นมันมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เวลาไปสอนหน้าชั้นเรียนและเวลานำเสนองานหน้าชั้นเรียนในมหาวิทยาลัย มันมีความแตกต่างกันนะคะ ความรู้สึกนี่ไม่เหมือนกันเลย เทียบกันไม่ติดเลย พี่ยอมรับนะคะว่าเวลานำเสนองานหน้าชั้นเรียนอาจจะดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่เชื่อว่าสามารถนำเสนอได้ แต่พอเป็นการสอนหน้าชั้นเรียนจริงๆต่อหน้านักเรียน พี่คิดว่าอาจจะทำได้ไม่ค่อยดีมากนัก มันจึงทำให้พี่เกิดอาการกลัวว่า พอออกไปหน้าห้องจริง ๆ จะทำได้มั้ย นักเรียนจะฟังหรือเปล่า เขาจะดื้อ จะซน จะเกเรมั้ย และอีกสารพัดที่กลัวว่ามันจะเกิดขึ้นในชั้นเรียนของตัวเอง และสิ่งที่ฉันกลัวมากที่สุด คือ ฉันจะไม่สามารถสร้างความรู้สึกดี ๆ ให้กับนักเรียนตั้งแต่แรกเห็น หรือว่า First Impression นั่นเอง

จริง ๆ แล้วการที่ได้ไปโรงเรียนในช่วงสองสัปดาห์แรก ควรจะเป็นช่วงที่พี่ได้สังเกตว่าอาจารย์พี่เลี้ยงเขามีวิธีการจัดการกับเด็กอย่างไร แต่ก่อนที่จะเปิดเทอม อาจารย์ได้แจ้งไว้ว่า เข้าไปลุยได้เลย เดี๋ยวครูเข้าไปดูอยู่ด้านหลังนะ โห ในใจตอนนั้นพี่คิดว่าแล้วมันจะรอดมั้ยเนี่ย

แต่พอถึงเวลาไปห้องเรียนจริงในวันแรก อ้าว เด็กมันก็เรียบร้อยดีนี่นา ไม่ได้มีอาการตื่นเต้นเหมือนตอนตอนไปสังเกตการสอนเลย ดูท่าทางเป็นมิตรกับครูด้วยซ้ำ พอสอนผ่านไป 2-3 ห้อง คามมั่นใจพี่ก็เริ่มมาแล้วค่ะ อืม...จะว่าไปก็ดีนะ ไอ้เราก็นึกว่าเด็กจะน่ากลัวซะอีก และแล้วก็ผ่านสัปดาห์แรกไปอย่างรวดเร็วค่ะ ผ่านไปด้วยความสุขที่พี่รู้สึกว่า เออ มันก็เป็นไปได้นะที่เราสามารถผ่านสัปดาห์แรกมาได้ แม้ว่าฉันจะไม่สามารถจำเด็กที่ตัวเองสอนได้ทั้งหมดก็ตาม

แต่ทุกคนคะ อย่าเพิ่งดีใจไปค่ะ สัปดาห์แรกก็เปรียบเสมือนของที่ซื้อแล้วประกันยังไม่หมดสัญญา ดูดีทุกอย่างเลยค่ะ พอเริ่มเข้าสัปดาห์ที่ 2-3  นักเรียนก็เริ่มเผยความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น กล้าพูดกล้าคุยกล้าเสียงดังในคาบ แม้ว่าพี่จะเตือนหลายรอบแล้วก็ยังกลับมาดังจนพี่ต้องดุบ้าง ขู่บ้าง กล่อมบ้าง แต่โดยทั่วไปมันก็โอเคดีค่ะ

และแน่นอนค่ะว่า การฝึกประสบการณ์ในการทำงาน จะต้องทำให้เราพบเจอเรื่องราวอะไรอีกเยอะแยะค่ะ ทั้งในเรื่องของการวางตัวต่อครู อาจารย์ที่ทำงานอยู่ที่วิทยาลัย การวางตัวกับนักเรียนที่เราสอนหรือที่เราไม่สอน การปฏิบัติตนต่าง ๆ กับการทำงานในฝ่ายต่าง ๆ อีก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ นิวเชื่อว่าไม่สามารถหาอ่านเอาจากตำราเล่มไหนได้ อีกทั้งนิวเองก็ไม่สามารถที่จะนึกจินตนาการออกมาเห็นภาพได้ชัด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราควรจะต้องมาพบเจอ มาสัมผัส มารับรู้ด้วยตัวของตัวเอง จะทำให้เราเกิดการเรียนรู้ได้ดีและยั่งยืนที่สุดค่ะ

นอกจากจะเจอเรื่องมากมายจากการฝึกประสบการณ์แล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งค่ะที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย คือการมานิเทศการสอนของอาจารย์วิชาชีพ และอาจารย์วิชาเอกนั่นเองค่ะ การนิเทศจะช่วยให้นิวเห็นถึงข้อผิดพลาดและจุดที่นิวต้องปรับปรุง รวมไปถึงความเห็นต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้พัฒนาตนเองต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นการวางตัว การสอน หรือทัศนคติต่าง ๆ ต่อการสอนภาษา ซึ่งนิวขอบอกก่อนเลยค่ะว่า อย่ากลัวกับการนิเทศ เพราะการนิเทศไม่ได้ทำร้ายอะไรเราเลย มีแต่จะพัฒนาให้เราเป็นคนที่ดีขึ้นและช่วยให้เราเป็นครูที่สมบูรณ์ขึ้นยิ่งกว่าเดิม

ไว้จบภาคเรียนที่ 1 แล้ว จะมาเล่าถึงความปวดหัวในการทำเกรดและปั่นวิจัยในชั้นเรียนให้ทุกคนได้ทราบอีกครั้งนึงนะคะ

เล่าเรื่อง: น.ส.ปฐมาภรณ์ เหลืองอมรพิศาล (นิว) นิสิตชั้นปีที่ 5 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
สนับสนุนโดย
- กฟผ.โรงไฟฟ้าจะนะ www.chana.egat.co.th/home
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา www.skru.ac.th
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy