Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

ขอได้ไหมเราไม่เอาผู้ว่าฯ ปีเดียว เสียงสะท้อนจากประชาชนผู้เสียภาษี

เริ่มโดย ฅนสงขลา, 22:57 น. วันที่ 01 10 58

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

ฅนสงขลา

ขอได้ไหมเราไม่เอาผู้ว่าฯ ปีเดียว เสียงสะท้อนจากประชาชนผู้เสียภาษี

ระบบการปกครองของประเทศไทย ต้องยอมรับว่าระบบราชการยังมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดอนาคตการพัฒนาท้องที่อยู่มาก โดยเฉพาะตำแหน่งสูสุดในระดับจังหวัด นั่นคือผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าฯ ที่มาจากการคัดสรรแต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจในประเทศเพื่อมาเป็นแม่ทัพปกครองในจังหวัดต่างๆ


บทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นสำคัญอย่างยิ่ง เป็นซีอีโอของจังหวัด เป็นผู้กำหนดวิสัยทัศน์จังหวัดร่วมกับภาคส่วนต่างๆ โดยมีผู้ว่าฯ เป็นหัวเรือใหญ่ การประสานการพัฒนาจากกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ยังต้องพึ่งพา พึ่งพิงการผลักดันจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสำคัญ การผลักดันในเกิดผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่การเป็นจังหวัดจัดการตนเองคงยังไม่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้

วันนี้หัวเรือในระดับจังหวัดของประเทศไทยจึงมี 2 ส่วนหลัก นั่นคือผู้ว่าราชการจังหวัด แม่ทัพฝ่ายปกครองที่มาจากการแต่งตั้ง และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง เป็นแม่ทัพใหญ่ในการพัฒนาท้องถิ่น แม้จะมีนายก อบจ.อยู่แล้วแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทของผู้ว่าฯ ยั้งสำคัญและมีอำนาจหน้าที่ที่มากกว่าบทบาทของนายกที่ประชาชนเลือกมาโดยตรงเสียอีก

แต่วันนี้ผู้ว่าราชการจังหวัด แทนที่จะเป็นตำแหน่งสำคัญของการพัฒนาจังหวัดกลับกลายเป็นเพียงแค่ตำแหน่งที่มาพักก่อนเกษียณ ตำแหน่งที่มานั่งรอเพื่อก้าวสู่ตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดที่นั่งในตำแหน่งครบ 4 ปีตามวาระที่ควรจะเป็นแทบไม่มีให้เห็นเลย คนที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ว่าฯ จึงมี 2 กลุ่มหลักๆ คือ

คนที่อายุ 58-59 ก้าวขึ้นมาจากรองผู้ว่าฯ เพื่อมาเกษียณในตำแหน่งผู้ว่าฯ ซึ่งเหมือนกับการให้เกียรติกันก่อนวางมือเวลาไปไหนมาไหนจะได้จะได้มีการแนะนำว่าท่านอดีตผู้ว่าฯ มันดูขลังและมีพาวเวอร์กว่าคำว่าอดีตรองผู้ว่าฯ เยอะมาก ส่วนอีกกลุ่มที่ก้าวขึ้นสู่ผู้ว่าฯ เป็นนักพัฒนาอายุ 50 ต้นๆ เมื่ออายุราชการเหลืออีกหลายปีก็หวังไกลจากจังหวัดเล็กขึ้นจังหวัดใหญ่ขึ้นอธิบดีขึ้นสุดท้ายเลยอยู่ในเก้าอีคราวละปี 2 ปีก็ขยับโยกย้ายกันไปตามวาระ

ผู้ใหญ่ในจังหวัดเล็กๆ ที่มีศักยภาพสูงเคยกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่าจังหวัดเราเป็นได้ 2 อย่างสำหรับผู้ว่าฯ คือโรงเรียนกับบ้านพักคนชรา คือโรงเรียนสำหรับผู้ว่าฯ หนุ่มคือมาแล้วหวังใช้จังหวัดเราก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นเลยทำผลงานเอาใจนายอย่างเดียวแม้จำทำงานดีเข้าตาชาวบ้านแต่ก็อยู่ไม่นาน อีกกลุ่มคือคนชราหมดไฟวัย 59 เหลือเวลาปีเดียวจะผลักดันโครงการใหญ่ก็ไม่ทัน งานที่มีผลกระทบต่อตำแหน่งก็อย่าทำดีกว่าไหนๆ ก็ใกล้ถึงเวลาเลี้ยงหลานแล้วเอาดีไว้

เมื่อเป็นแบบนี้การพัฒนาจะก้าวเดินไปในทิศทางที่ดีและต่อเนื่องได้อย่างไรแม่ทัพถูกเปลี่ยนเป็นว่าเล่น ในทางกลับกันไปดูแม่ทัพใหญ่ฝ่ายท้องถิ่นที่เป็นข้าราชการดูไม่ว่าจะเป็นปลัดจังหวัด ปลัดเทศบาล ปลัด อบต.อยู่งอกรากในตำแหน่งเดิมบางคนเป็นสิบปีแล้วไม่ไปไหน แม้ไม่ใช่แม่ทัพหลักแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นคือหัวเรือใหญ่ฝ่ายราชการคนที่เก่งและดีก็ดีไป แต่คนที่หาลู่ทางสร้างประโยชน์ตัวเองร่วมกับฝ่ายท้องถิ่นก็มีถมไปทำไมไม่ขยับสับเปลี่ยนตำแหน่งเขาบ้าง

ความจริงแล้ววันนี้ประเทศไทยควรก้าวสู่ยุคท้องถิ่นเข้มแข็ง จังหวัดจัดการตนเองผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งเมื่อให้ไม่ได้ก็ขอได้ไหมขอผู้ว่าฯ ที่อยู่กับประชาชนยาวๆ กำหนดเป็นกฎกระทรวงไว้เลยว่า "ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีไม่มีการโยกย้ายหากไม่มีเหตุอันควร"


บท บก.นสพ.ขวานทอง เดือนกันยายน 2558