Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

วิถีความพอเพียง ไม่ร่ำรวยแต่ยั่งยืน

เริ่มโดย สงขลามีเดีย, 14:37 น. วันที่ 23 06 58

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

สงขลามีเดีย

โดย ไทยรัฐ https://www.thairath.co.th/content/506678

"การลดต้นทุน"...เป็นสิ่งสำคัญที่ "เกษตรกร"...ยุคปัจจุบันต้องคำนึงถึงที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดินขยายผล "ปุ๋ยสูตรพระราชทาน" สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรตื่นตัว หันมาทำปุ๋ยหมักใช้เอง ตามสูตรที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้ ด้วยเห็นว่า "ถ้ายังใช้ปุ๋ยเคมีนอกจากสิ่งแวดล้อมจะโดนทำลายไปแล้ว ค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้น การทำปุ๋ยหมักใช้เองเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรหันมาส่งเสริมอย่างจริงจัง ให้เกษตรกรได้หันมาพึ่งตนเองมากขึ้น"

อภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ย้ำไปแล้วหลายครั้งว่า การใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาทดแทนในช่วงเริ่มต้น คงไม่ได้แทนที่เลยทั้งหมด แต่จะค่อยๆซึม...ค่อยๆเริ่ม โดยให้เกษตรกรเห็นประโยชน์ด้วยตัวเองว่าปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีได้ ลดการใช้เคมีลงได้และช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินได้

"ทยอยเริ่มจากลดห้าเปอร์เซ็นต์...สิบเปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆไปจนถึง...ยี่สิบเปอร์เซ็นต์ก็ได้ แล้วบางคนพอมีพัฒนาการมากขึ้นก็อาจจะก้าวกระโดดไปสู่การเพาะปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์"

ความจริงแล้วเรื่องปุ๋ยอินทรีย์ไม่ใช่เพิ่งเริ่มมาทำกันในยุคนี้วันนี้ หากแต่เกษตรกรหลายคนทำแล้วด้วยความเคยชินของพี่น้องเกษตรกรก็ยังมีความคิดว่าไม่สามารถทดแทนปุ๋ยเคมีได้

วันนี้...สิ่งที่อยากจะสะท้อนประเด็นสำคัญคือเรื่องของ "ราคาผลผลิต" ไม่มีทางเลยที่เกษตรกรจะต่อรองกับคนซื้อผลผลิตได้เพราะเป็นเรื่องกลไกตลาด เป็นเรื่องของผลผลิตที่เป็นอุปสงค์อุปทานที่กำหนดยาก แต่ "การลดต้นทุน"...เป็นอำนาจที่อยู่ในมือเกษตรกรทุกคน

"...ตัดสินใจลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง เฉลี่ยแล้วค่าปุ๋ยมีต้นทุนสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ในโครงสร้างการผลิต ถ้าตัดสินใจว่าจะทำให้ลดลง โดยนำปุ๋ยอินทรีย์มาใช้ ค่อยๆแทนที่ ค่อยเป็นค่อยไปจะเป็นความยั่งยืนในระยะยาว"

ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นมาได้เกษตรกรต้องจับมือกันรวมกลุ่มกันทำ ยกตัวอย่างโครงการ "ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์" ที่มีการจัดทำบัญชีรับ ฝาก ถอน กู้ยืม และกำหนดอัตราดอกเบี้ยในการฝาก...กู้ยืม วัสดุผลิตปุ๋ยอินทรีย์, ปุ๋ยอินทรีย์, ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ, วัสดุผลิตน้ำหมักสมุนไพร, เมล็ดปุ๋ยพืชสด ฯลฯ

"โครงการธนาคารปุ๋ยอินทรีย์" เป็นโครงการสำคัญที่เริ่มต้นจริงจังมาตั้งแต่ต้นปี 2558 อภิชาต บอกว่า กรมพัฒนาที่ดินรณรงค์ สนับสนุนในเรื่องการลดใช้สารเคมี ทดแทนด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ของกรมฯ ปัจจัยการผลิตสารเร่งต่างๆ จุลินทรีย์เข้ามาเสริม รวมถึงการศึกษา นำร่อง ใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือน เอาเศษวัสดุต่างๆมาทำประโยชน์

ที่สำคัญก็คือการขับเคลื่อน "ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์" ให้ได้ทั่วถึง
ทุกพื้นที่

"ทำทุกจังหวัด...เกินเป้าหมายที่วางเอาไว้แล้ว วัตถุประสงค์สำคัญก็คือการขับเคลื่อนเดินหน้าของธนาคารปุ๋ยอินทรีย์แต่ละแห่ง แต่ละพื้นที่ มองการใช้สารอินทรีย์ทั้งหลายเข้ามาทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี มุ่งหวังให้เกษตรกรทำเอง...ใช้เอง เพราะถ้าไปซื้อปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขายอยู่ในท้องตลาดราคาก็แพง"

ต้องย้ำว่าผลิตเองแล้ว ก็ต้องนำเอาไปใช้อย่างจริงจัง ไม่ใช่ว่าพอไปส่งเสริมก็ทำๆกันแล้วก็ทำไว้อย่างนั้นไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์...

จึงพยายามปรับเปลี่ยนแก้ปัญหาผ่านโครงการธนาคารปุ๋ยอินทรีย์

สอดคล้องกับ "เกษตรสีเขียว" อีกโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินหน้าพื้นที่นำร่องให้เป็นต้นแบบการพัฒนาการเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมี เข้าสู่มาตรฐาน GAP นับรวมไปถึงการนำเอาขยะการเกษตรทั้งหลายมาใช้ประโยชน์ได้อย่างดี โดยไม่ให้เหลือเป็นของเสีย

เป้าหมายสำคัญก็คือการทำการเกษตรแบบยั่งยืน ลดต้นทุน ช่วยในเรื่องของสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ผลิตอาหารที่ปลอดภัยทั้งตัว
ผู้ผลิต...ผู้บริโภค

"เกษตรกรใช้สารเคมีแบบซึมซับ ไม่รู้หรอกว่าอันตรายเข้าไปสะสมในร่างกายมากน้อยเท่าไหร่ หลายพื้นที่สาธารณสุขไปตรวจ ปรากฏว่า...พบสารเคมีทางการเกษตรสะสมในเลือดเกินมาตรฐานมากมาย"

"เมืองเกษตรสีเขียวต้นแบบ" จะเดินหน้าในทุกสาขา ไม่ว่าพืช ปศุสัตว์ ประมง...ดำเนินการไปแล้วใน 6 จังหวัด เชียงใหม่ หนองคาย ศรีสะเกษ ราชบุรี จันทบุรี พัทลุง

ตัดกลับมาที่ธนาคารปุ๋ยฯ ปุ๋ยอินทรีย์มี 3 ชนิด ปุ๋ยหมัก, น้ำหมักชีวภาพ, ปุ๋ยพืชสด กรมฯจะไปหากลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง สนใจทำธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ก็จะมีหลักเกณฑ์ร่วมกันเบื้องต้นว่า ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์จะต้องมีการฝาก ถอน คิดดอกเบี้ย แต่ไม่ใช่ว่าคิดเป็นตัวเงิน แต่ฝากวัตถุดิบที่นำมาทำปุ๋ย ไม่ว่าเศษพืช มูลสัตว์ ฯลฯ

"เกษตรกรสมาชิกในกลุ่มเอามาฝากเท่านี้ สามารถที่จะเบิกปุ๋ยทั้ง 3 ชนิด...ไปได้เท่าไหร่ ลักษณะการทำบางคนยังไม่มีต้นทุน ไม่มีอะไรมาฝากเลยก็ใช้สิทธิกู้เอาปุ๋ยที่ทำเสร็จแล้วไปใช้ก่อน การใช้หนี้คืนก็เอามาคืนในรูปวัตถุดิบต่างๆ...กู้ปุ๋ยหมักก็มีเศษวัสดุ ปุ๋ยคอก ถ้าเป็นน้ำหมักชีวภาพก็อาจจะเป็นเศษผัก ผลไม้เน่าเสีย..."

เพื่อจะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบนำมาผลิตปุ๋ยหมุนเวียนใช้ต่อไปได้

ส่วนปุ๋ยพืชสด จะมีเมล็ดพันธุ์ไปให้กับธนาคารทุกแห่ง เอาไว้เป็นทุน เมื่อเกษตรกรเบิกไปแล้วก็ปลูก ปลูกแล้วเก็บผลผลิตได้ก็จะเก็บเมล็ดพันธุ์มาคืนธนาคารบวกกับดอกเบี้ย สมมติว่ากู้ไป 100 กิโลกรัม ก็เอามาคืน 110 กิโลกรัม คืนต้นพร้อมดอก...เมล็ดพันธุ์ส่วนที่เหลือก็สามารถนำเก็บไว้ปลูกต่อไปได้ หมุนเวียนกันไปอย่างนี้

"ผู้กู้...ไม่ต้องไปกู้อีกแล้ว ส่วนธนาคารก็มีเมล็ดพันธุ์ไปให้เกษตรกรสมาชิกรายอื่นกู้ต่อได้อีก ในชั้นต้นกรมฯตั้งงบประมาณที่จะผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ เมล็ดพันธุ์ให้เป็นต้นทุนธนาคารเอาไว้สำหรับดำเนินการในช่วงแรก แล้วก็ให้ช่วยตัวเองต่อไปให้ได้โดยคอยเป็นพี่เลี้ยง" อภิชาต ว่า

"เมื่อเอาวัตถุดิบมาแล้ว สมาชิกกลุ่มเกษตรกรก็จะมาช่วยกันผลิต ใช้แรงงานช่วยกันทำ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ทำให้ธนาคารเดินต่อไปได้ต่อเนื่อง"

ธนาคารจะอยู่ได้ต้องมีความร่วมมือ ต้องใช้จริง ทำจริง

ทุกวันนี้ปัญหาสำคัญมีอยู่ว่า เกษตรกรไม่น้อยก็บอกว่าทำปุ๋ยอินทรีย์ ทำปุ๋ยน้ำชีวภาพเอง แต่แล้วก็ไปซื้อมาใช้ในราคาแพง...ทำให้ต้นทุนสูง

ปุ๋ยเหล่านี้สมัยก่อนชาวนาชาวไร่ก็ทำใช้เองอยู่แล้ว ทำกองไว้หัวไร่ปลายนา กองหมักเอาไว้พอได้ที่แล้วก็นำไปใช้ แต่ช่วงหลังๆมาไม่มีใครทำแล้ว ซื้ออย่างเดียว เอาสะดวกเข้าว่า

"ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์"...เป็นการรวมกลุ่มเกษตรให้เข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ อยากจะเห็นเกษตรกรทำเอง ใช้เอง แต่ก็ต้องมีพื้นที่พอสมควร ต้องมีความพร้อม บางแห่งใช้พื้นที่ อบต.อนุญาตให้สร้างโรงปุ๋ยหรือที่ไหนที่มีความพร้อมอยู่แล้วก็สามารถต่อยอดได้ และอีกส่วนในการดำเนินการก็จะเป็นพื้นที่ของสถานีพัฒนาที่ดิน

หลายแห่งที่ไปทำค่อนข้างมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว เพราะมี "หมอดิน" เป็นแกนนำ ผลที่เกิดขึ้นนอกจากผลิตใช้แล้ว ยังเป็นฐานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการผลิตได้ เป็นประโยชน์มาก

บางแห่งก้าวหน้าไปอีกขั้น ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์...ที่จังหวัดสตูลมีธนาคารสาขาแล้วในอำเภอต่างๆเป็นเครือข่าย...โดยมีจุดเริ่มที่เป็นหัวใจสำคัญ การพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้มแข็งไม่ต่างกัน นั่นก็คือนอกจากมีความรู้ ทำเอง...ใช้เอง...ใช้จริงแล้ว ยังต้องรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง ถ้าผลิตแล้วเหลือใช้ก็ยังเอาไปขายเพิ่มรายได้เข้ามาอีกทางหนึ่ง

"เกษตรกรไทยยุคใหม่" จะต้องเพิ่มศักยภาพในการผลิต สร้างภูมิคุ้มกันตัวเอง ยึดหลักพอเพียง พึ่งตนเอง ปลดล็อกวัฏจักร "ยิ่งทำ...ยิ่งจน".
สนับสนุนโดย
- กฟผ.โรงไฟฟ้าจะนะ www.chana.egat.co.th/home
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา www.skru.ac.th
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy