Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

Menu

Show posts

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Show posts Menu

Messages - สงขลามีเดีย

#16
อุตสาหกรรมสงขลาร่วมกับท้องถิ่น-เอกชน จัดปล่อยปลาและปลูกต้นทองอุไรที่คลองแงะ สะเดา

เมื่อวันจันทร์ที่ 8 มกราคม 2567  ณ บริเวณฝาย 935 ตำบลพังลา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา "สส.น้ำหอม" นางสาวสุภาพร กำเนิดผล  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา เขต 6  พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมปล่อยปลาและปลูกต้นทองอุไร โดยมีนางจันทร์จิรา บางเสน อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา กล่าวรายงาน นายสุวัฒ เลิศจิตต์ธรรม  นายกเทศมนตรีตำบลคลองแงะ กล่าวต้อนรับ
พร้อมกันนี้ยังมี นายเจริญ โอมณี  ประมงจังหวัดสงขลา ผู้แทนนายอำเภอสะเดา ผู้แทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพังลา รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลปริก กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น-ท้องที่ ตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนบ้านคลองแงะ โรงเรียนกอบกุลวิทยาคม โรงเรียนวงศ์วิทย์ ผู้ประกอบการในพื้นที่ แขกผู้มีเกียรติ และผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากหลายภาคส่วน
สส.น้ำหอม กล่าวว่า "ตามที่อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ได้กล่าวรายงานเกี่ยวกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีการผลักดันนโยบาย MIND ใช้ "หัว" และ "ใจ" ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ผ่านกิจกรรม "อุตสาหกรรมรวมใจ : ดูแลสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน" ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในฐานะผู้แทนราษฎร มีความตระหนักในเรื่องนี้ และเห็นว่านโยบายดังกล่าว สอดคล้องกับแนวความคิดของนายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยชูนโยบายการปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้นๆ มาตลอด
วันนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดี ทีเห็นความร่วมมือร่วมใจของภาคอุตสาหกรรมในอำเภอสะเดา ในการร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เหมือนกับที่เราเน้นย้ำมาตลอดว่า "ผู้ประกอบการอยู่ได้พี่น้องประชาชนก็ต้องอยู่ได้" และเชื่อมั่นว่าพันธุ์ปลาที่ถูกปล่อยลงสู่คลอง ต้นทองอุไรที่ปลูกลงสู่ดิน จะสร้างคุณประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้"
โดยในวันนี้ผู้ร่วมงานได้ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลาที่ได้รับการสนับสนุนจากประประมงจังหวัดสงขลา และการปลูกต้นทองอุไร จากผู้ประกอบการโณงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ร่วมสนับสนุน โดยเทศบาลตำบลคลองแงะ จะเป็นผู้ดูแลสานต่อการดูแลต้นไม้และสายน้ำต่อไป
#17
ททท.ปีนัง จัดกิจกรรม Famtrip นำผู้ประกอบการฯพร้อมสื่อมวลชนสำรวจแหล่งท่องเที่ยวใหม่

การท่องเที่ยวปีนัง จัดกิจกรรม Famtrip นำสื่อมวลชน สำรวจแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โปรโมทและชวนคนไทยเที่ยวปีนัง ประเทศมาเลเซีย พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทัวร์ทั้งสองประเทศ พบปะแลกเปลี่ยนแนวคิดด้านธุรกิจนำเที่ยว

การท่องเที่ยวปีนัง Penang Global Tourism จัดโครงการนำสื่อมวลชน อินฟูเรนเซอร์ และผู้ประกอบการท่องเที่ยว เดินทางไปยังรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 -17 ธันวาคม 2566 เพื่อร่วมสำรวจเส้นทางแหล่งท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตและสถานที่ใหม่ๆ ของรัฐปีนัง โดยมี YB Wong Hon Wai – Penang พร้อมด้วย นายรัชฎา จิวาลัย กงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง และคณะท่องเที่ยวปีนังให้การต้อนรับ

นายรัชฎา จิวาลัย กงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง เปิดเผยว่า ปี 2566 นี้ปริมาณคนไทยมาเที่ยวมาเลเซียประมาณ 2 ล้านคน ขณะที่คนมาเลเซียเดินทางไปท่องเที่ยวที่ไทยประมาณ 4.3 ล้านคน จะเห็นว่าค่อนข้างต่างกัน ดังนั้นการท่องเที่ยวปีนัง มีความต้องการดึงดูดคนไทยให้เข้ามาท่องเที่ยวปีนังมากขึ้น จึงมีแนวคิดต้องการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 ของไทยที่ว่า การท่องเที่ยวต้องมีความยั่งยืนนั่นคือการพึ่งพาอาศัยกัน

จึงจัดกิจกรรมในรูปแบบ Famtrip พาสื่อมวลชน อินฟูเรนเซอร์ และผู้ประกอบการมาท่องเที่ยว สำรวจสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในพื้นที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย และนำภาพบรรยากาศเหล่านี้กลับไปประชาสัมพันธ์และเชิญชวนคนไทยมาเที่ยวให้มากขึ้น ขณะเดียวกันได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั้งฝั่งไทย และปีนัง พบปะพูดคุย วางแผนเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกัน/ที่สำคัญรัฐบาลไทยเองก็มุ่งเน้นเรื่องของการส่งเสริมด้านความสัมพันธ์ในภาพรวม โดยเฉพาะระหว่างประชาชนกับประชาชน เพราะฉะนั้นการท่องเที่ยวจะเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากขึ้น
กงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง

สำหรับการสำรวจสถานที่ท่องเที่ยวในรัฐปีนัง สื่อมวลชน อินฟูเรนเซอร์ และผู้ประกอบการ ได้เยี่ยมชมสถานที่น่าสนใจ อาทิ

- Dark Mansion - 3D Glow In The Dark Museum
พิพิธภัณฑ์เรืองแสงในที่มืดแบบ 3 มิติแห่งเดียวในมาเลเซีย ศิลปะร่วมสมัยแห่งนี้ผสมผสานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ากับศิลปะ โดยมีเอฟเฟกต์เรืองแสงในที่มืดบนภาพวาด ซึ่งล้ำหน้ากว่าเทคนิคการวาดภาพ 3 มิติที่เปลี่ยนภาพวาดสองมิติเป็นภาพสามมิติ มีมุมให้โพสท่าสำหรับภาพถ่ายที่สร้างสรรค์

- Tropical Spice Garde
สวนป่าเขตร้อน มีพืชพันธุ์กว่า 500 ชนิด ข้างในมีกิจกรรมให้ทำมากมาย อาทิเช่น ทำอาหาร โยคะ เป็นต้น

- The Pinang Peranakan Mansion
พิพิธภัณฑ์ เพอรานากัน 2 วัฒนธรรม จีนและตะวันตก คฤหาสน์สีเขียวสุดโดดเด่น โอ่อ่า อลังการ รวบรวมสถาปัตยกรรมพร้อมสมบัติมีค่าข้าวของเครื่องใช้ในอดีตของมหาเศรษฐีชาวจีนโพ้นทะเลที่มาตั้งถิ่นฐานบนเกาะนี้ ซึ่งบ้านหลังนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยทศวรรษที่ 1890

- Entopia by Penang Butterfly Farm
หนึ่งในสวนผีเสื้อที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย ซึ่งมีผีเสื้อบินอิสระมากกว่า 15,000 ตัวสำรวจห้องเรียนและศูนย์กลางการค้นพบที่ใหญ่ที่สุด

- De'8000 Mini Golf Cafe
คาเฟ่มินิกอล์ฟ ที่มีมุมถ่ายมากมาย มีร้านอาหารและกิจกรรมตีกลอ์ฟมากกว่า 10 แบบ

- Ghost Museum
เป็นตึกแถว 2- 3 ห้อง มี 3 ชั้น มีการจัดแสดงผี  และสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติอื่นๆ จากหลากหลายวัฒนธรรม ชวนสยองขวัญ ทุกห้องจะมีเสื้อผ้าวิกและพร็อพต่างๆ ให้ถ่ายเป็นผีไปด้วย แม้กระทั่งส้วมยังทำซะหลอน

- The Habitat Penang Hil
เส้นทางสำรวจธรรมชาติ บนปีนังฮิลล์ ที่เอาใจสายชิล ชอบเดินที่มีความน่าสนใจ และมุมถ่ายรูปสวยๆ โดยเฉพาะที่ Skywalk วงกลมที่มองเห็นเมืองปีนังได้แบบ 360 องศา

- Hin Bus Depot
สถานีรถบัสเก่าที่ปัจจุบันเป็นสถานที่จัดนิทรรศการศิลปะในร่มและกลางแจ้ง รวมถึงมีคาเฟ่และตลาดนัดขายของแฮนเมด

- Bertam Souk & Water Park
สวนน้ำกลางแจ้ง ที่มีทั้งห้องพัก และกิจกรรมต่างๆ ข้างในมากมาย

- Kampung Agong
โฮมสเตย์กัมปุงอากงที่ได้รับความนิยมบนโซเชียลมีเดีย เป็นสถานที่สวยงาม มีที่พัก มุมถ่ายภาพ ร้านค้า คาเฟ่ ขี่ม้า ปั่นจักรยาน และพื้นที่มีความก้วางขวาง เหมาะกับครอบครัวที่ต้องการพักผ่อน มีกิจกรรมมากมายที่น่าสนใจ

คนมาเลเที่ยวไทยแล้ว คนไทยเที่ยวมาเลบ้าง เที่ยวต่างประเทศที่คนสงขลาเดินทางไม่กี่ชั่วโมงต้องเที่ยว...ปีนัง มาเลเซีย โดยสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวด้วยตัวเองหรือติดต่อผ่านผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ของท่านได้เลย
#18
นายกชาย นำทีมมอบทุนการศึกษาโครงการ"ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"
มูลนิธิ "วรวิทย์ ขาวทอง" โครงการ  "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" นำโดย นายกชาย เดชอิศม์ ขาวทอง สส.เขต 5 สงขลา และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ สส.น้ำหอม สุภาพร กำเนิดผล สส.เขต 6 สงขลา สส.สิงโต ศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สส.เขต 9 สงขลา สจ.เสือ วงศ์วชิระ ขาวทอง ส.อบจ.สงขลา เขต 1 อ.รัตภูมิ ร่วมกับ คณะกรรมการมูลนิธิฯ ผู้สนับสนุนโครงการ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ และพี่น้องประชาชนชาวจังหวัด สงขลา
16 ธันวาคม 2566 ณ สำนักงาน สส.เดชอิศม์ ขาวทอง (นายกชาย) อ.รัตภูมิ จ.สงขลา มีการจัดพิธีเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพิธีมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียน ของมูลนิธิวรวิทย์ ขาวทอง ในโครงการ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จำนวน 330 ทุน ทุนละ 3,000 บาท แก่นักเรียนในพื้นที่ 7 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอรัตภูมิ ควนเนียง สิงหนคร บางกล่ำ หาดใหญ่ คลองหอยโข่ง และสะเดา จังหวัดสงขลา
ตามที่มูลนิธิวรวิทย์ ขาวทอง ได้จัดกิจกรรมระดมทุนโครงการ "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา โดยได้รับเงินสนับสนุนรวมมากกว่า 4.5 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่มีความขาดแคลนให้สามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ และทางคณะกรรมการมูลนิธิฯ ให้ทางโรงเรียนร่วมกับผู้นำท้องที่เป็นผู้คัดเลือกนักเรียนที่สมควรได้รับทุน ครั้งที่ 1 จำนวน 330 ทุน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 990,00 บาท
นายกชาย นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สำหรับการมอบทุนการศึกษา ครั้งที่ 1 สามารถมอบทุนแก่นักเรียนในบางอำเภอก่อน พร้อมระดมทุนเพิ่มเพื่อจะขยายให้ครอบคลุมทั้ง 16 อำเภอของจังหวัดสงขลา  โดยจะมีการจัดโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การมอบทุนครอบคลุมและให้ถึงมือครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ ให้ได้มากที่สุด
สำหรับผู้สนับสนุนงบประมาณในโครงการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อาทิ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 1 ล้านบาท คุณสารัชถ์ รัตนาวะดี  1 ล้านบาท ครอบครัวขาวทอง 1 ล้านบาท และผู้ร่วมสนับสนุนรวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 4.5 ล้านบาท โดยทางคณะกรรมการจะมีการใช้จ่ายเงินให้ได้ตามวัตถุประสงค์โครงการต่อไป
#19
"เรนิตา เนอสเซอรี่" จากความรักของแม่สู่การดูแลเด็กที่เอาใจใส่ดั่งคนในครอบครัว

ศูนย์ดูแลเด็กเล็กหรือเนอสเซอรี่ เชื่อว่าเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนกังวลใจเวลาที่ต้องฝากลูกให้อยู่กับสถานที่เหล่านี้ เช่นเดียวกับคุณ...ที่บอกว่าตัวเองมีลูกค่อนข้างยากและเมื่อมีแล้วก็เป็นห่วงลูกมาก เลยต้องวางแผนชีวิตนับตั้งแต่มีลูกว่าต้องเปลี่ยนจากการทำงานประจำมาดูแลลูกด้วยตัวเอง และเล็งเห็นว่าธุรกิจที่สามารถดูแลลูกควบคู่กับการทำงานไปด้วยคือ เนอสเซอรี่

นี่คือจุดเริ่มต้นของ "เรนิตา เนอสเซอรี่" คุณ...บอกว่าเมื่อตัดสินใจจะเปิดเนอสเซอรี่ ก็มีคนแนะนำสถานที่แห่งนี้ให้ซึ่งเมื่อมาดูก็ถูกใจเพราะสถานที่กว้าง ไม่ไกลจากถนนสายหลักแต่เงียบสงบ ถนนด้านหน้ากว้างเข้าออกได้หลายทางไม่แออัด เมื่อเข้ามาดูก็ถูกใจกับสถานที่โดยยังไม่ทราบข่าวเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้ว่าเคยเป็นที่ตั้งของเนอสเซอรี่ ที่มีปัญหาในการดูแลเด็กและถูกสั่งปิดพร้อมดำเนินการทางกฎหมายแล้ว เมื่อทราบข่าวและทราบว่ามีครูพี่เลี้ยงเก่าถูกลอยแพตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว ก็เลยรับคนเหล่านี้ซึ่งมีประสบการณ์มาร่วมทำงานกับเรา โดยเราไม่รู้จักหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้เช่าสถานที่แห่งนี้ชุดเก่าเลยแม้แต่น้อย

"ที่เลือกตรงนี้เพราะทำเลสวยและความของอาคารสถานที่ดีมากๆ ที่สำคัญเราตั้งใจทำตรงนี้เพื่อดูแลลูกตัวเองด้วยจึงมีการลงทุนด้านความปลอดภัยเยอะมากๆ ห้องเด็กเล็กต้องมีพื้นและฝาผนังกันกระแทก ห้องเด็กโตฝาผนังกะนกระแทกทั้งหมด ทุกห้องทุกโซนมีกล้องวงจรปิดให้ผู้ปกครองสามารถดูบุตรหลานผ่านระบบออนไลน์ได้ตลอดเวลา พี่เลี้ยงทุกคนมีการตรวจสอบประวัติ สัมภาษณ์ ดูพฤติกรรมอย่างละเอียด เพราะเขาไม่ใช่แค่ต้องดูแลเด็กคนอื่นแต่ยังต้องดูแลลูกของเราด้วย"

การเลี้ยงลูกด้วยตัวเองคือสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนปรารถนามากที่สุด แต่ด้วยภาระหน้าที่ของคนเรามีไม่เท่ากันการมีสถานที่ที่ไว้วางใจได้ อุ่นใจแม้ไม่ได้ดูแลด้วยตัวเองแต่สามารถเห็นพัฒนาการของลูกได้ทุกเวลา "เรนิตา เนอสเซอรี่" พร้อมตอบโจทย์ความต้องการของคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน ด้วยการรับเลี้ยงรับดูแลเด็กตั้งแต่อายุ 3 เดือน - 4 ขวบ ดูแล ใส่ใจ ห่วงใย เสมือนคนในครอบครัว สามารถเข้ามาเยี่ยมชม สอบถามข้อมูลก่อนตัดสินใจที่

เรนิตา เนอสเซอรี่ เลขที่ 1 ถนนทักษิณเมืองทอง 4 (หลัง 7-11 ตรงข้ามเทคนิคหาดใหญ่) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โทร 093-7495656 ,093-5462445 หรือติดต่อออนไลน์ได้ทางเฟสบุ๊ค เรนิตา เนอสเซอรี่   
#20
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โรงไฟฟ้าจะนะ จัดพิธีมอบทุนการศึกษา ประจำปี 2566 ให้แก่ เด็กนักเรียนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าจะนะ จำนวน 55 โรงเรียน รวม 291 ทุน โดยมีนายวิภู พิวัฒน์  ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 1, นายเขมญาติ ยมานันตกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ และนายฮะซัน ยิ่งสมาน หัวหน้ากองบริหาร เป็นตัวแทน กฟผ. มอบทุนการศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินการจัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระยะเริ่มการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ เพื่อเป็นการสร้างโอกาส และสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่อำเภอจะนะ ให้สามารถศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น และนำความรู้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป
#21
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.จะนะ) จัดกิจกรรมงานครบรอบ 8 ปี รัฐพิธีเปิดโรงไฟฟ้าจะนะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จแทนพระองค์ในการเปิดโรงไฟฟ้าจะนะอย่างเป็นทางการ เมื่อวันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งมีกิจกรรมทางศาสนา พิธีสักการะพระภูมิเจ้าที่และศาลตายาย พิธีทางศาสนาทั้งไทย - พุทธ และไทย - มุสลิม ณ อาคารประชาสัมพันธ์ โรงไฟฟ้าจะนะ  โดยมีนายกฤชณัทท  พลรัตน์ นายอำเภอจะนะ เป็นประธานในพิธีทางศาสนา  และนายเขมญาติ ยมานันตกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ กล่าวต้อนรับ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานท้องที่  หน่วยงานเอกชนในพื้นที่ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน  และผู้ปฏบัติงานโรงไฟฟ้าจะนะเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
#22
นายกชาย เอาจริงจี้ "สี่แยกคูหาต้องสร้างเสร็จตามกำหนด" ทำชาวบ้านเดือดร้อนนานเกินเจอฟ้องแน่ 

"นายกชาย" ลุยตรวจความคืบหน้าก่อสร้างสะพานข้ามแยกคูหาที่ล่าช้า ดึงทุกภาคส่วนร่วมประชุมหาทางออกช่วยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สามารถทำมาหากินได้ ก่อสร้างมาปีกว่าแต่ความคืบหน้ามีน้อยมาก

7 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์ประสานงานนายกชาย นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.เขต 5 สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการนัดประชุมหารือถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชนที่ได้รับผลกระทบจากงานก่อสร้างสะพานข้ามแยกคูหา โดยมี สส.สิงโต นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สส.เขต 9 สงขลา นายสมคเน เสมทัพพระ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสงขลาที่ 1 นางสาววิไลลักษณ์ เรืองผล นายอำเภอรัตภูมิ พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ สุวรรณนพมาศ ผู้กำกับการสถานีตำรวจรัตภูมิ พร้อมด้วยผู้ควบคุมโครงการ ตัวแทนผู้รับเหมาโครงการ ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ และตัวแทนพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนมาร่วมสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น

สำหรับโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับสี่แยกคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) กับทางหลวงหมายเลข 406 (ถนนยนตรการกำธร) เป็นการก่อสร้างทางต่างระดับเป็นสะพานบนทางหลวงหมายเลข 4 ข้ามทางหลวงหมายเลข 406 ตัวสะพานมีความยาวรวม 750 เมตร ขนาด 6 ช่องจราจรไปกลับ พร้อมสี่แยกวงเวียนระดับพื้นใต้สะพานแบบไม่มีการควบคุมสัญญาณไฟจราจร การปรับปรุงถนน ขยายถนน ทล.4 ระยะทาง 3.1 กิโลเมตร ขยายถนน ทล. 406 ฝั่งทางไปควนเนียงระยะทางประมาณ 1.4 กิโลเมตร และฝั่งทางไปรัตภูมิมีการขยายถนนเต็มพื้นที่เขตทางหลวง วงเงินการก่อสร้าง 950 ล้านบาท เริ่มดำเนินโครงการ 24 กันยายน 2564 สิ้นสุดโครงการตามสัญญาวันที่ 7 กันยายน 2567 แต่เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีการขยายเวลาสิ้นสุดโครงการเป็นเดือนมิถุนายน 2568 ผู้ชนะการประมูลคือ กิจการร่วมค้า พีซี-เอสเอ็ม จังหวัดเชียงใหม่

อย่างไรก็ตามในช่วงระยะเวลาการก่อสร้างมากกว่า 1 ปี ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่าตอนแรกก็ดีใจและพร้อมเสียสละเพื่อให้การพัฒนาเกิดขึ้นในพื้นที่ ผู้สัญจรไปมาได้รับความสะดวกสบาย แต่นับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการทุกคนต่างมีความเห็นกันว่าการงานของผู้รับเหมาเป็นไปอย่างล่าช้า ขาดการประสานงานกับชาวบ้านกับผู้นำในพื้นที่ ผู้ประกอบธุรกิจในแนวเขตก่อสร้างหลายร้านต้องปิดกิจการ บางร้านแบกรับภาระขาดทุนมาตลอดเพราะไม่ลูกค้า ไม่มีเส้นทางให้ลูกค้าเข้ามาถึงร้าน มีการขุดคูปิดทางหน้าบ้านหน้าร้านค้าแล้วไม่ดำเนินการใดๆ เป็นเวลาหลายเดือน รวมถึงปัญหาฝุ่นละออง โคลนตม ปัญหาการจราจรติดขัด และอีกหลายปัญหาที่ส่งผลกระทั้งทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต สุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่ มีการสอบถาม/ร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานแต่ยังไม่ๆได้รับการแก้ไขที่จริงจัง ล่าสุดมีการอภิปรายหารือในสภาโดย สส.ศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง ไปแล้วแต่ความคืบหน้ายังมีไม่มาก จึงได้มีการนัดประชุมกับทุกภาคส่วนในวันนี้

 
"ผมได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนหลายจังหวัดที่ผ่านสี่แยกคูหา และจากพี่น้องประชาชนที่เป็นผู้ประการบริเวณสี่แยกคูหาที่ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างโครงการที่ไม่มีความชัดเจน ทั้งที่ผ่านระยะเวลามาปีกว่าแล้วแต่ความคืบหน้ายังน้อยมากไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ หลายคนต้องปิดกิจการ หลายคนต้องแบกรับภาระขาดทุนแบบไม่รู้ว่าจะได้ทำกิจการแบบปกติเมื่อไหร่ วันนี้จึงได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ได้รับผลกระทบมานั่งพูดคุยกันว่ามีปัญหาตรงไหน ติดขัดตรงไหน มีอะไรที่เข้าใจไม่ตรงกันให้มาพูดในเวทีเดียวกัน เพื่อให้รับทราบปัญหาและหาทางแก้ไขในแนวทางเดียวกัน ทั้งจากกรมทางหลวง ผู้รับเหมา ส่วนราชการ ท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง

วันนี้เป็นเวทีแรกที่ทุกฝ่ายได้มาพูดคุยกันอย่างจริงจังและเราจะประชุมอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการ นอกจากการติดตามงานผ่านสภาแล้วผมได้ประสานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอเข้าพบท่านให้ช่วยกำชับมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินงานให้เร็วที่สุด ตอนแรกโครงการกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายนปี 67 และทราบว่ามีการขยายเวลาเป็นมิถุนายนปี 68 ซึ่งเราดูแล้วถ้ายังทำอยู่แบบนี้ไม่มีทางเสร็จทันตามกำหนดแน่นอน จึงต้องกำชับให้ทุกฝ่ายช่วยกันติดตามงานอย่างจริงจัง ติดขัดตรงไหนหากช่วยได้ก็ยินดีช่วย แต่หากปัญหาความเดือดร้อนชาวบ้านยังไม่ได้รับการแก้ไขก็จำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเยียวยาพี่น้องประชาชนของผมด้วย" ส่วนหนึงที่นายกชาย กล่าวในที่าประชุมและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

พร้อมกันนี้ยังมีการลงพื้นที่เพื่อดูความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน รับฟังปัญหาเพิ่มเติมร่วมกันจากทุกฝ่ายที่มีการนำเสนอมุมมองสะท้อนปัญหาที่หลากหลาย นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยนายสมคเน เสมทัพพระ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสงขลาที่ 1 ได้มารับทราบปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านและยืนยันว่าจะกำชับทั้งผู้ควบคุมโครงการ ผู้รับเหมาให้มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตรงไหนที่ชาวบ้านเดือดร้อนต้องแก้ไขให้เร็วที่สุด มีกรอบเวลาการทำงานที่ชุดเจนและติดตามงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำเสนอให้ฝ่ายผู้รับเหมาต้องจัดทีมมวลชนสัมพันธ์ลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน จุดไหนที่ทำแล้วชาวบ้านได้รับผลกระทบต้องมีการแจ้งล่วงหน้าและกำหนดเวลาเสร็จให้ชัดเจน มีกลุ่มรายงานความคืบหน้า/ข้อติดขัด ที่มีทุกภาคส่วนทั้งอำเภอ ตำรวจ ท้องถิ่น ท้องที่ ตัวแทนชาวบ้าน ทางหลวง ผู้รับเหมา ไว้สำหรับติดต่อประสานงานกันอย่างจริงจัง โดยหลังจากนี้จะมีการนัดประชุมติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ ต่อไปจนกว่าโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จ   
   
#23
อบจ.สงขลา นำร่องจัดทำผังแม่บทการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบพื้นที่อำเภอสิงหนคร

อบจ.สงขลา การประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการจัดทำผังแม่บทการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา นายกไพเจน หวังใช้เป็นแผนนำร่องให้ท้องถิ่นได้มีแบบแผนผังน้ำรองรับการขยายตัวของเมืองแก้น้ำท่วม น้ำแล้ง

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องประชุมไทรแก้ว โรงแรมหาดแก้ว รีสอร์ท อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา นายไพเจน  มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการจัดทำผังแม่บทการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมในการประชุมฯ โดยมี นางสาวภพภร ทองคณารักษ์ ผู้อำนวยการกองผังเมือง อบจ.สงขลา กล่าวรายงาน
 
เนื่องจากปัญหาอุทกภัย ปัญหาน้ำท่วมขัง ปัญหาการระบายน้ำ และปัญหาน้ำแล้งเป็นปัญหาที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ประสบความเดือดร้อนเป็นประจำทุกปี โดยที่มีสาเหตุมาจากศักยภาพของระบบระบายน้ำในพื้นที่มีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุมประกอบกับการขยายตัวของชุมชนที่มีผลต่อการกีดขวางทางระบายน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่สร้างความเดือดร้อนต่อชุมชนและประชาชนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในฤดูแล้งยังเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่มีจํากัดส่งผลกระทบต่อการพัฒนาภาคเกษตรกรรมในพื้นที่
 
ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จึงดำเนินการโครงการจัดทำผังแม่บทการบริหารจัดการนํ้าทั้งระบบในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และได้ว่าจ้าง บริษัท อินเตอร์ เทค คอนซัลแตนท์ จํากัด เป็นที่ปรึกษา เพื่อจัดทำผังแม่บทการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยการประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อสำรวจจัดทำฐานข้อมูล ศึกษา วิเคราะห์ และทบทวนรายงาน หรือแผนงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
2. เพื่อจัดทำผังแม่บทการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
3. เพื่อจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการ การบริหารจัดการ โดยเฉพาะการบรรเทาปัญหาอุทกภัย ปัญหาน้ำท่วมขัง ปัญหาการระบายน้ำ และปัญหาน้ำแล้งในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
4. เพื่อออกแบบและประมาณราคาโครงการบริหารจัดการน้ำตามแผนแม่บท และแผนปฏิบัติการเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาในพื้นที่ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าววว่า อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางด้านทรัพยากรน้ำแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นชุมชนที่ความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ของจังหวัดสงขลา และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจ การเกษตรกรรม การประมง และเป็นเส้นทางเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งระหว่างจังหวัด แต่เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ เป็นที่ราบลุ่มขนาบด้วย ทะเลอ่าวไทย และทะเลสาบสงขลา จึงมักจะประสบปัญหาอุทกภัย ในช่วงฤดูมรสุมเป็นประจำทุกปี ประกอบกับในปัจจุบัน มีการขยายตัวของชุมชนที่มีความหนาแน่น ส่งผลกระทบต่อการกีดขวางทางระบายน้ำ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในบริเวณชุมชน อีกทั้งยังประสบปัญหาการขาดแคลนแหล่งกักเก็บน้ำ ของภาคเกษตรกรรม ในฤดูแล้ง ทำให้ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม และการพัฒนาพื้นที่อำเภอสิงหนครเป็นอย่างมาก

อบจ.สงขลา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาและการแก้ไขปัญหา ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา จึงมีนโยบายที่จะดำเนินการโครงการ เพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อำเภอสิงหนคร ให้เกิดความสมดุล เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จึงได้ดำเนินการโครงการ จัดทำผังแม่บท การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบในพื้นที่อำเภอสิงหนคร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการจัดทำผังแม่บทการบริหารจัดการน้ำ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญของการดำเนินการในรูปแบบ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งจากประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลุ่มองค์กร และเครือข่ายต่างๆ จึงได้กำหนดให้มีการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการในวันนี้ เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาของโครงการและรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการนำไปประกอบการศึกษาให้เหมาะสม โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษา จะก่อให้เกิดการบริหารจัดน้ำในพื้นที่อำเภอสิงหนคร ที่เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพตามความต้องการของประชาชน สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ เพื่อใช้เป็นแบบแผนแม่บทในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาของพื้นที่อำเภอสิงหนคร ในอนาคตต่อไป   

ด้านนางสาวภพภร  ทองคณารักษ์ ผู้อำนวยการกองผังเมือง อบจ.สงขลา กล่าวว่า จากปัญหาอุทกภัย ปัญหาน้ำท่วมขัง ปัญหาการระบายน้ำ และปัญหาน้ำแล้ง เป็นปัญหาที่ทำให้ประชาชน ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ประสบความเดือดร้อนเป็นประจำทุกปี โดยที่มีสาเหตุมาจากศักยภาพของระบบระบายน้ำในพื้นที่มีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงฤดูสรสุม ประกอบกับการขยายตัวของชุมชนที่มีผลต่อการกีดขวางทางระบายน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ สร้างความเดือดร้อนต่อชุมชนและประชาชนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในฤดูแล้ง ยังเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่มีจำกัด ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาภาคเกษตรกรรมในพื้นที่
   
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงลา จึงดำเนินการโครงการ จัดทำผังแม่บท การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และได้ว่าจ้าง บริษัท อินเตอร์ เทค คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษา เพื่อจัดทำผังแม่บทการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจจัดทำฐานข้อมูล ศึกษา วิเคราะห์ และทบทวนรายงานหรือแผนงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ,เพื่อจัดทำผังแม่บทการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อำเภอสิงหนคร ,เพื่อจัดทำแผนแม่บท และแผนปฏิบัติการ การบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะการบรรเทาปัญหาอุทกภัย ปัญหาน้ำท่วมขัง ปัญหาการระบายน้ำ และปัญหาน้ำแล้ง ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และเพื่อออกแบบ และประมาณราคาโครงการบริหารจัดการน้ำตามแผนแม่บท  และแผนปฏิบัติการเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่อำเภอสิงหนคร   
           
โดยการดำเนินงานโครงการ ได้มีการจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบความเป็นมา วัตถุประสงค์ ขอบเขต ขั้นตอน และระยะเวลาดำเนินการของโครงการ และได้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อย จำนวน 10 กลุ่ม ในพื้นที่ 11 ตำบล ของอำเภอสิงหนคร ในระหว่างวันที่ 18 - 22 กันยายน 2566 เพื่อนำเสนอแนวทางการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อำเภอสิงหนคร ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และสำหรับการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการในครั้งนี้ จะเป็นการนำเสนอสรุปผลการศึกษาโครงการ โดยให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประกอบการศึกษา และการจัดทำแผนงานโครงการบริหารจัดหารน้ำ ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาต่อไป

#24
"นศ. สวัสดิการสังคม" มรภ.สงขลา รับโล่รางวัลชมเชย ประกวดสื่อเสริมสร้างคุณธรรมฯ ด้านวินัย

            นักศึกษาหลักสูตรสวัสดิการสังคม คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ส่งผลงานหนังสั้น "วินัยที่แม่สอน คว้ารางวัลชมเชย ประกวดสื่อเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมด้านวินัย
             เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 นางสาวปริญญา อุศมา และ นางสาวกันติศา จันทร์สวาท นักศึกษาหลักสูตรสวัสดิการสังคม ชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ในฐานะตัวแทนสมาชิก "ทีมบังเอิญ" ที่มีสมาชิกในทีมอีก 1 คนคือ นางสาวอริสรา ทุ่ยอ้น ร่วมกันจัดทำผลงานหนังสั้น เรื่อง "วินัยที่แม่สอน" โดยมี อาจารย์ ดร.ชยุต อินทร์พรหม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับรางวัลชมเชย ในการประกวดสื่อเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมด้านวินัย ระดับนักเรียน นิสิต/นักศึกษา ภายใต้หัวข้อ "วินัยสร้างชาติ" จัดโดยกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ณ ห้องแกลลอรี 5 อาคารหอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพฯ
#25
ม.อ.ตรัง บูรณาการรายวิชานักศึกษา ออกแบบชุมชน ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.อ. วิทยาเขตตรัง เน้นกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก ส่งเสริมนักศึกษาให้นำความรู้ภาคทฤษฎีและกรณีศึกษา มารวมเข้ากับประสบการณ์จากการเข้าพื้นที่จริง เพื่อเพิ่มความสามารถในการวางแผน ออกแบบ แก้ปัญหา เพื่อนำความรู้ไปใช้งานจริงได้มากที่สุด
อาจารย์คัมภีร์ คล้ามนฤมล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เปิดเผยถึงการพัฒนาการเรียนการสอนของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่เน้นการใช้แนวทางการศึกษาแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์ เน้นกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติและเรียนรู้จากประสบการณ์ในสถานการณ์จริง ผ่านการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการการเรียนและการทำงาน ตลอดจนมีการเสริมสร้างความเข้าใจการเรียนรู้ในพื้นที่จริงในภูมิภาค
เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาจัดการเรียนรู้ดังกล่าว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จึงมีการเปิดสอนรายวิชาที่เกี่ยวข้องเช่น การออกแบบสถาปัตยกรรม และ  สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ที่อาจารย์ประจำวิชาได้เลือกชุมชนในจังหวัดตรังเป็นพื้นที่เข้าศึกษาจริง โดยจากการสำรวจเพื่อออกแบบในรายวิชา การลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากผู้คนในชุมชน ทำให้เห็นความต้องการในการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และนักท่องเที่ยว โดยชุมชนที่เลือกศึกษา เช่น บ้านควนตุ้งกู บ้านตะเสะ บ้านน้ำราบ จังหวัดตรัง ซึ่งมีความสำคัญในฐานะที่เป็นจุดพักถ่ายนักท่องเที่ยวจากบกสู่ทะเล
จากการเข้าพื้นที่เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรม นักศึกษาได้เข้าศึกษาเรื่องหลัก ๆ ของชุมชนทั้งด้านกายภาพ สังคม อาชีพ วิถีชีวิต และนำมาออกแบบเป็นอาคารศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วยอาคารที่สามารถตอบสนองประโยชน์ใช้สอยของคนในชุมชน เช่น ส่วนนิทรรศการ ร้านค้าชุมชน ส่วนแปรรูปอาหารทะเล ส่วนซ่อมเรือประมง ศูนย์ชุมชน พื้นที่สันทนาการชุมชน และส่วนบริการนักท่องเที่ยว และออกแบบบ้านตัวอย่างที่เหมาะสมกับพื้นที่ ในชุมชนบ้านควนตุ้งกู จำนวน 28 ผลงาน และชุมชนบ้านตะเสะจำนวน 37 ผลงาน ส่วนชุมชนบ้านน้ำราบมี 1 ผลงาน
การได้ร่วมออกแบบชุมชนเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยว ทำให้นักศึกษามีความเข้าใจพื้นที่ มองเห็นปัญหา และเห็นแนวทางการนำไปใช้เพื่อให้ก่อประโยชน์แก่ชุมชน ได้สัมผัสถึงมิติต่างๆ ในการพัฒนาพื้นที่โดยกลวิธีของการออกแบบสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต ตลอดจนการทำงานร่วมกับผู้อื่นในชุมชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ การเข้าถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชน ความต้องการ ด้านกายภาพ เศรษฐกิจและสังคม และมองเห็นปัญหาและแนวทางแก้ไขที่มีความเป็นไปได้ โดยการนำความรู้ที่ได้จากการเรียนเข้าสู่กระบวนการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ และเสริมสร้างให้นักศึกษามีจิตสำนึกเรื่องการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อยกระดับชุมชนให้เป็นพื้นที่ที่มีความยั่งยืนต่อไป
#26
วันที่ 13 ตุลาคม  2566  นายเขมญาติ  ยมานันตกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ พร้อมด้วยผู้ปฏิบัติงานโรงไฟฟ้าจะนะ ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล  ณ หอประชุมชวาทอง และพิธีวางพวงมาลา ณ หอประชุมศาลาประชาคมอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
โดยในวันที่ 13 ตุลาคม 2566 เป็นวันแห่งการสวรรคตครบ 7 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  หรือเรียกว่า "สัตตมวรรษ"  เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ  ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้                                   
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า"วันนวมินทรมหาราช" ซึ่งได้พระราชทานพระมหากรุณามีมติเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 รับทราบการกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็น "วันนวมินทรมหาราช" 
โดยกิจกรรมในวันนี้มีนายกฤชณัทท  พลรัตน์  นายอำเภอจะนะ เป็นประธานในพิธี และมีหัวหน้านส่วนราชการประจำอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการสังกัดส่วนกลาง หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารสถานศึกษา  ผู้นำหน่วยกำลังในพื้นที่ นายกเทศมนตรีตำบลทุกแห่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุกตำบล  องค์กรเอกชน เครือข่ายภาคประชาชน  และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกหมู่บ้าน เข้าร่วมกินกรรมอย่างพร้อมเพรียงกัน
#27
โรงไฟฟ้าจะนะ ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอจะนะ และโรงพยาบาลศิครินทร์หาดใหญ่ จัดกิจกรรมแพทย์เคลื่อนที่
ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2566  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงไฟฟ้าจะนะร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอจะนะและโรงพยาบาลศิครินทร์ หาดใหญ่จัดกิจกรรมแพทย์เคลื่อนที่ ประจำปี 2566 พร้อมทั้งให้บริการนวดแผนไทย และการตัดผมจากโรงเรียนเสริมสวยดาวสยาม โดยกำหนดจัดกิจกรรม 3 วัน 3 สถานที่ ในอำเภอจะนะ ดังนี้
10 ตุลาคม 2566 ณ โรงเรียนบ้านป่าชิง ม.1 ตำบลป่าชิง
11 ตุลาคม 2566 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน ม.3 ตำบลตลิ่งชัน
12 ตุลาคม 2566 ณ โรงเรียนตาดีกาบ้านควนหัวช้าง ม.6 ตำบลคลองเปียะ 
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายกฤชณัทท พลรัตน์ นายอำเภอจะนะ ได้เข้าเยี่ยม การดำเนินการจัดกิจกรรมดังกล่าว พร้อมขอบคุณหน่วยงานที่ได้จัดกิจกรรมดีๆ ให้กับพี่น้องชาวอำเภอจะนะ
ทั้งนี้ กฟผ. ต้องขอขอบคุณสาธารณสุขอำเภอจะนะ โรงพยาบาลศิครินทร์ หาดใหญ่ ชมรมนวดแผนไทยนาหม่อม โรงเรียนเสริมสวยดาวสยาม ที่ร่วมกันจัดกิจกรรม ขอขอบคุณผู้ดูแลสถานที่จัดกิจกรรม ได้แก่ โรงเรียนบ้านป่าชิง ม.1 ตำบลป่าชิง องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน และโรงเรียนตาดีกาบ้านควนหัวช้าง ตำบลคลองเปียะ  สำหรับการเอื้อเฟื้อสถานที่
และที่ขาดไม่ได้เจ้าหน้าที่ทุกคนทุกภาคส่วน ตั้งแต่ฝ่ายจัดเตรียมสถานที่ ฝ่ายบริการ ฝ่ายแพทย์ และอาสาสมัครทุกคน ที่ร่วมมือร่วมใจในการทำให้กิจกรรมครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
#28
อพท. จับมือ 5 สถาบันการศึกษา ร่วมหนุนเสริมการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระยะ 4 ปี หวังยกระดับการบริหารจัดการพื้นที่สู่เกณฑ์มาตรฐานสากล GSTC UCCN และ CBT Thailand ชูจุดขายวิถีชีวิตและวัฒนธรรม พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวศักยภาพแห่งใหม่ ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นรับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวของไทย
    นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เปิดเผยว่า วันนี้ (18 กันยายน 2566) อพท. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยลงนามร่วมกับ 5 สถาบันอุดมศึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการสร้างกลไกการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้กับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สถาบันวิชาการ องค์กรชุมชน และองค์กรภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567- พ.ศ. 2570) 
  วัตถุประสงของความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามแนวทางของ  สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council) และกำหนดบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกันให้ครอบคลุมรายละเอียดตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) การร่วมกันขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเมืองที่มีศักยภาพสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) และกำหนดบทบาทหน้าที่ร่วมกันให้ครอบคลุมรายละเอียดตามใบสมัครของยูเนสโก รวมถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนและกำหนดบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนร่วมกันให้ครอบคลุมตามแนวทางมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT Thailand)
    ภายใต้ความร่วมมือนี้ได้ตกลงขอบเขตการทำงานร่วมกัน โดย อพท. และ 5 มหาวิทยาลัย จะร่วมกันประสานงานการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการใช้ศักยภาพของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ อปท. และชุมชนท้องถิ่นจัดให้มีการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ส่งเสริมการจัดทำข้อมูลสารสนเทศและการวิจัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมไปถึงส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่แห่งท้องถิ่นให้ดีขึ้น
    ทั้งนี้ อพท. และมหาวิทยาลัย จะร่วมกันกำหนดรายละเอียดแผนงานและโครงการตามแนวทางการดำเนินงาน ได้แก่ ร่วมกันสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ  ภายใต้งบประมาณที่แต่ละฝ่ายได้รับจัดสรรและภารกิจของหน่วยงาย โดยมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษาและบุคลากร มาร่วมดำเนินงานในแต่ละโครงการ ที่อยู่ในพื้นที่พิเศษหรือพื้นที่เป้าหมายของ อพท.  ภายใต้ความเห็นชอบร่วมกัน  นอกจากนั้น ยังตกลงร่วมกันที่จะร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนรายละเอียดการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ภายใต้บริบทและอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงานอีกด้วย   
    อย่างไรก็ตาม พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ใน 15 อำเภอของ 3 จังหวัด คือ จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันอยู่ในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระยะ 5 ปี มีเป้าหมายยกระดับเมืองที่มีความพร้อมให้เข้าสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก และส่งเสริมให้แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่มีการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนำไปสู่การเสนอเข้ารับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Green Destinations Top 100 Stories
#29
มรภ.สงขลา จัดพิธีลงนามคำรับรองการปฏิบัติราชการขับเคลื่อนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ฯ ปีงบประมาณ พ.ศ.2567             
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ลงนามคำรับรองการปฏิบัติราชการกับคณบดีและผู้อำนวยการสำนัก/สถาบัน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ณ ห้องประชุมอรัญ ธรรมโน ชั้น 8 อาคารอำนวยการ มรภ.สงขลา เพื่อให้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ฯ และแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณบดี ผู้อำนวยการสำนัก/สถาบัน
#30
วันที่ 7 กันยายน 2566 นายเขมญาติ ยมานันตกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานโรงไฟฟ้าจะนะ ร่วมจัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และ ปลูกป่าชายเลน ครั้งที่ 2 ณ บริเวณบ้านท่ายาง หมู่ 3 ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยมีนายกฤชณัทท พลรัตน์ นายอำเภอจะนะ เป็นประธานในพิธี ซึ่งพันธุ์สัตว์น้ำที่ปล่อยเป็นกุ้งแชบ๊วยจำนวน 2,000,000 ตัว และปลูกต้นโกงกางจำนวน 3,000 ต้น โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ ความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างระบบนิเวศให้กับคลองนาทับ