Main Menu

ข่าว:

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่ www.SongkhlaMedia.com เรียนเชิญชาวสงขลาและทุกท่านร่วมขับเคลื่อนเว็บไซต์สาระที่มากกว่าข่าว ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อสงขลาบ้านเรา

Menu

Show posts

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Show posts Menu

Topics - สงขลามีเดีย

#21
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.จะนะ) จัดกิจกรรมงานครบรอบ 8 ปี รัฐพิธีเปิดโรงไฟฟ้าจะนะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จแทนพระองค์ในการเปิดโรงไฟฟ้าจะนะอย่างเป็นทางการ เมื่อวันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งมีกิจกรรมทางศาสนา พิธีสักการะพระภูมิเจ้าที่และศาลตายาย พิธีทางศาสนาทั้งไทย - พุทธ และไทย - มุสลิม ณ อาคารประชาสัมพันธ์ โรงไฟฟ้าจะนะ  โดยมีนายกฤชณัทท  พลรัตน์ นายอำเภอจะนะ เป็นประธานในพิธีทางศาสนา  และนายเขมญาติ ยมานันตกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ กล่าวต้อนรับ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานท้องที่  หน่วยงานเอกชนในพื้นที่ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน  และผู้ปฏบัติงานโรงไฟฟ้าจะนะเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
#22
นายกชาย เอาจริงจี้ "สี่แยกคูหาต้องสร้างเสร็จตามกำหนด" ทำชาวบ้านเดือดร้อนนานเกินเจอฟ้องแน่ 

"นายกชาย" ลุยตรวจความคืบหน้าก่อสร้างสะพานข้ามแยกคูหาที่ล่าช้า ดึงทุกภาคส่วนร่วมประชุมหาทางออกช่วยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สามารถทำมาหากินได้ ก่อสร้างมาปีกว่าแต่ความคืบหน้ามีน้อยมาก

7 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์ประสานงานนายกชาย นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.เขต 5 สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการนัดประชุมหารือถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชนที่ได้รับผลกระทบจากงานก่อสร้างสะพานข้ามแยกคูหา โดยมี สส.สิงโต นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สส.เขต 9 สงขลา นายสมคเน เสมทัพพระ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสงขลาที่ 1 นางสาววิไลลักษณ์ เรืองผล นายอำเภอรัตภูมิ พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ สุวรรณนพมาศ ผู้กำกับการสถานีตำรวจรัตภูมิ พร้อมด้วยผู้ควบคุมโครงการ ตัวแทนผู้รับเหมาโครงการ ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ และตัวแทนพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนมาร่วมสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น

สำหรับโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับสี่แยกคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) กับทางหลวงหมายเลข 406 (ถนนยนตรการกำธร) เป็นการก่อสร้างทางต่างระดับเป็นสะพานบนทางหลวงหมายเลข 4 ข้ามทางหลวงหมายเลข 406 ตัวสะพานมีความยาวรวม 750 เมตร ขนาด 6 ช่องจราจรไปกลับ พร้อมสี่แยกวงเวียนระดับพื้นใต้สะพานแบบไม่มีการควบคุมสัญญาณไฟจราจร การปรับปรุงถนน ขยายถนน ทล.4 ระยะทาง 3.1 กิโลเมตร ขยายถนน ทล. 406 ฝั่งทางไปควนเนียงระยะทางประมาณ 1.4 กิโลเมตร และฝั่งทางไปรัตภูมิมีการขยายถนนเต็มพื้นที่เขตทางหลวง วงเงินการก่อสร้าง 950 ล้านบาท เริ่มดำเนินโครงการ 24 กันยายน 2564 สิ้นสุดโครงการตามสัญญาวันที่ 7 กันยายน 2567 แต่เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีการขยายเวลาสิ้นสุดโครงการเป็นเดือนมิถุนายน 2568 ผู้ชนะการประมูลคือ กิจการร่วมค้า พีซี-เอสเอ็ม จังหวัดเชียงใหม่

อย่างไรก็ตามในช่วงระยะเวลาการก่อสร้างมากกว่า 1 ปี ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่าตอนแรกก็ดีใจและพร้อมเสียสละเพื่อให้การพัฒนาเกิดขึ้นในพื้นที่ ผู้สัญจรไปมาได้รับความสะดวกสบาย แต่นับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการทุกคนต่างมีความเห็นกันว่าการงานของผู้รับเหมาเป็นไปอย่างล่าช้า ขาดการประสานงานกับชาวบ้านกับผู้นำในพื้นที่ ผู้ประกอบธุรกิจในแนวเขตก่อสร้างหลายร้านต้องปิดกิจการ บางร้านแบกรับภาระขาดทุนมาตลอดเพราะไม่ลูกค้า ไม่มีเส้นทางให้ลูกค้าเข้ามาถึงร้าน มีการขุดคูปิดทางหน้าบ้านหน้าร้านค้าแล้วไม่ดำเนินการใดๆ เป็นเวลาหลายเดือน รวมถึงปัญหาฝุ่นละออง โคลนตม ปัญหาการจราจรติดขัด และอีกหลายปัญหาที่ส่งผลกระทั้งทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต สุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่ มีการสอบถาม/ร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานแต่ยังไม่ๆได้รับการแก้ไขที่จริงจัง ล่าสุดมีการอภิปรายหารือในสภาโดย สส.ศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง ไปแล้วแต่ความคืบหน้ายังมีไม่มาก จึงได้มีการนัดประชุมกับทุกภาคส่วนในวันนี้

 
"ผมได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนหลายจังหวัดที่ผ่านสี่แยกคูหา และจากพี่น้องประชาชนที่เป็นผู้ประการบริเวณสี่แยกคูหาที่ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างโครงการที่ไม่มีความชัดเจน ทั้งที่ผ่านระยะเวลามาปีกว่าแล้วแต่ความคืบหน้ายังน้อยมากไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ หลายคนต้องปิดกิจการ หลายคนต้องแบกรับภาระขาดทุนแบบไม่รู้ว่าจะได้ทำกิจการแบบปกติเมื่อไหร่ วันนี้จึงได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ได้รับผลกระทบมานั่งพูดคุยกันว่ามีปัญหาตรงไหน ติดขัดตรงไหน มีอะไรที่เข้าใจไม่ตรงกันให้มาพูดในเวทีเดียวกัน เพื่อให้รับทราบปัญหาและหาทางแก้ไขในแนวทางเดียวกัน ทั้งจากกรมทางหลวง ผู้รับเหมา ส่วนราชการ ท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง

วันนี้เป็นเวทีแรกที่ทุกฝ่ายได้มาพูดคุยกันอย่างจริงจังและเราจะประชุมอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการ นอกจากการติดตามงานผ่านสภาแล้วผมได้ประสานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอเข้าพบท่านให้ช่วยกำชับมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินงานให้เร็วที่สุด ตอนแรกโครงการกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายนปี 67 และทราบว่ามีการขยายเวลาเป็นมิถุนายนปี 68 ซึ่งเราดูแล้วถ้ายังทำอยู่แบบนี้ไม่มีทางเสร็จทันตามกำหนดแน่นอน จึงต้องกำชับให้ทุกฝ่ายช่วยกันติดตามงานอย่างจริงจัง ติดขัดตรงไหนหากช่วยได้ก็ยินดีช่วย แต่หากปัญหาความเดือดร้อนชาวบ้านยังไม่ได้รับการแก้ไขก็จำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเยียวยาพี่น้องประชาชนของผมด้วย" ส่วนหนึงที่นายกชาย กล่าวในที่าประชุมและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

พร้อมกันนี้ยังมีการลงพื้นที่เพื่อดูความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน รับฟังปัญหาเพิ่มเติมร่วมกันจากทุกฝ่ายที่มีการนำเสนอมุมมองสะท้อนปัญหาที่หลากหลาย นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยนายสมคเน เสมทัพพระ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสงขลาที่ 1 ได้มารับทราบปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านและยืนยันว่าจะกำชับทั้งผู้ควบคุมโครงการ ผู้รับเหมาให้มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตรงไหนที่ชาวบ้านเดือดร้อนต้องแก้ไขให้เร็วที่สุด มีกรอบเวลาการทำงานที่ชุดเจนและติดตามงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำเสนอให้ฝ่ายผู้รับเหมาต้องจัดทีมมวลชนสัมพันธ์ลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน จุดไหนที่ทำแล้วชาวบ้านได้รับผลกระทบต้องมีการแจ้งล่วงหน้าและกำหนดเวลาเสร็จให้ชัดเจน มีกลุ่มรายงานความคืบหน้า/ข้อติดขัด ที่มีทุกภาคส่วนทั้งอำเภอ ตำรวจ ท้องถิ่น ท้องที่ ตัวแทนชาวบ้าน ทางหลวง ผู้รับเหมา ไว้สำหรับติดต่อประสานงานกันอย่างจริงจัง โดยหลังจากนี้จะมีการนัดประชุมติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ ต่อไปจนกว่าโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จ   
   
#23
อบจ.สงขลา นำร่องจัดทำผังแม่บทการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบพื้นที่อำเภอสิงหนคร

อบจ.สงขลา การประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการจัดทำผังแม่บทการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา นายกไพเจน หวังใช้เป็นแผนนำร่องให้ท้องถิ่นได้มีแบบแผนผังน้ำรองรับการขยายตัวของเมืองแก้น้ำท่วม น้ำแล้ง

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องประชุมไทรแก้ว โรงแรมหาดแก้ว รีสอร์ท อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา นายไพเจน  มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการจัดทำผังแม่บทการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมในการประชุมฯ โดยมี นางสาวภพภร ทองคณารักษ์ ผู้อำนวยการกองผังเมือง อบจ.สงขลา กล่าวรายงาน
 
เนื่องจากปัญหาอุทกภัย ปัญหาน้ำท่วมขัง ปัญหาการระบายน้ำ และปัญหาน้ำแล้งเป็นปัญหาที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ประสบความเดือดร้อนเป็นประจำทุกปี โดยที่มีสาเหตุมาจากศักยภาพของระบบระบายน้ำในพื้นที่มีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุมประกอบกับการขยายตัวของชุมชนที่มีผลต่อการกีดขวางทางระบายน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่สร้างความเดือดร้อนต่อชุมชนและประชาชนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในฤดูแล้งยังเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่มีจํากัดส่งผลกระทบต่อการพัฒนาภาคเกษตรกรรมในพื้นที่
 
ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จึงดำเนินการโครงการจัดทำผังแม่บทการบริหารจัดการนํ้าทั้งระบบในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และได้ว่าจ้าง บริษัท อินเตอร์ เทค คอนซัลแตนท์ จํากัด เป็นที่ปรึกษา เพื่อจัดทำผังแม่บทการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยการประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อสำรวจจัดทำฐานข้อมูล ศึกษา วิเคราะห์ และทบทวนรายงาน หรือแผนงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
2. เพื่อจัดทำผังแม่บทการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
3. เพื่อจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการ การบริหารจัดการ โดยเฉพาะการบรรเทาปัญหาอุทกภัย ปัญหาน้ำท่วมขัง ปัญหาการระบายน้ำ และปัญหาน้ำแล้งในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
4. เพื่อออกแบบและประมาณราคาโครงการบริหารจัดการน้ำตามแผนแม่บท และแผนปฏิบัติการเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาในพื้นที่ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าววว่า อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางด้านทรัพยากรน้ำแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นชุมชนที่ความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ของจังหวัดสงขลา และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจ การเกษตรกรรม การประมง และเป็นเส้นทางเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งระหว่างจังหวัด แต่เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ เป็นที่ราบลุ่มขนาบด้วย ทะเลอ่าวไทย และทะเลสาบสงขลา จึงมักจะประสบปัญหาอุทกภัย ในช่วงฤดูมรสุมเป็นประจำทุกปี ประกอบกับในปัจจุบัน มีการขยายตัวของชุมชนที่มีความหนาแน่น ส่งผลกระทบต่อการกีดขวางทางระบายน้ำ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในบริเวณชุมชน อีกทั้งยังประสบปัญหาการขาดแคลนแหล่งกักเก็บน้ำ ของภาคเกษตรกรรม ในฤดูแล้ง ทำให้ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม และการพัฒนาพื้นที่อำเภอสิงหนครเป็นอย่างมาก

อบจ.สงขลา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาและการแก้ไขปัญหา ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา จึงมีนโยบายที่จะดำเนินการโครงการ เพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อำเภอสิงหนคร ให้เกิดความสมดุล เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จึงได้ดำเนินการโครงการ จัดทำผังแม่บท การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบในพื้นที่อำเภอสิงหนคร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการจัดทำผังแม่บทการบริหารจัดการน้ำ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญของการดำเนินการในรูปแบบ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งจากประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลุ่มองค์กร และเครือข่ายต่างๆ จึงได้กำหนดให้มีการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการในวันนี้ เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาของโครงการและรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการนำไปประกอบการศึกษาให้เหมาะสม โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษา จะก่อให้เกิดการบริหารจัดน้ำในพื้นที่อำเภอสิงหนคร ที่เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพตามความต้องการของประชาชน สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ เพื่อใช้เป็นแบบแผนแม่บทในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาของพื้นที่อำเภอสิงหนคร ในอนาคตต่อไป   

ด้านนางสาวภพภร  ทองคณารักษ์ ผู้อำนวยการกองผังเมือง อบจ.สงขลา กล่าวว่า จากปัญหาอุทกภัย ปัญหาน้ำท่วมขัง ปัญหาการระบายน้ำ และปัญหาน้ำแล้ง เป็นปัญหาที่ทำให้ประชาชน ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ประสบความเดือดร้อนเป็นประจำทุกปี โดยที่มีสาเหตุมาจากศักยภาพของระบบระบายน้ำในพื้นที่มีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงฤดูสรสุม ประกอบกับการขยายตัวของชุมชนที่มีผลต่อการกีดขวางทางระบายน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ สร้างความเดือดร้อนต่อชุมชนและประชาชนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในฤดูแล้ง ยังเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่มีจำกัด ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาภาคเกษตรกรรมในพื้นที่
   
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงลา จึงดำเนินการโครงการ จัดทำผังแม่บท การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และได้ว่าจ้าง บริษัท อินเตอร์ เทค คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษา เพื่อจัดทำผังแม่บทการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจจัดทำฐานข้อมูล ศึกษา วิเคราะห์ และทบทวนรายงานหรือแผนงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ,เพื่อจัดทำผังแม่บทการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อำเภอสิงหนคร ,เพื่อจัดทำแผนแม่บท และแผนปฏิบัติการ การบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะการบรรเทาปัญหาอุทกภัย ปัญหาน้ำท่วมขัง ปัญหาการระบายน้ำ และปัญหาน้ำแล้ง ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และเพื่อออกแบบ และประมาณราคาโครงการบริหารจัดการน้ำตามแผนแม่บท  และแผนปฏิบัติการเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่อำเภอสิงหนคร   
           
โดยการดำเนินงานโครงการ ได้มีการจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบความเป็นมา วัตถุประสงค์ ขอบเขต ขั้นตอน และระยะเวลาดำเนินการของโครงการ และได้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อย จำนวน 10 กลุ่ม ในพื้นที่ 11 ตำบล ของอำเภอสิงหนคร ในระหว่างวันที่ 18 - 22 กันยายน 2566 เพื่อนำเสนอแนวทางการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อำเภอสิงหนคร ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และสำหรับการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการในครั้งนี้ จะเป็นการนำเสนอสรุปผลการศึกษาโครงการ โดยให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประกอบการศึกษา และการจัดทำแผนงานโครงการบริหารจัดหารน้ำ ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาต่อไป

#24
"นศ. สวัสดิการสังคม" มรภ.สงขลา รับโล่รางวัลชมเชย ประกวดสื่อเสริมสร้างคุณธรรมฯ ด้านวินัย

            นักศึกษาหลักสูตรสวัสดิการสังคม คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ส่งผลงานหนังสั้น "วินัยที่แม่สอน คว้ารางวัลชมเชย ประกวดสื่อเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมด้านวินัย
             เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 นางสาวปริญญา อุศมา และ นางสาวกันติศา จันทร์สวาท นักศึกษาหลักสูตรสวัสดิการสังคม ชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ในฐานะตัวแทนสมาชิก "ทีมบังเอิญ" ที่มีสมาชิกในทีมอีก 1 คนคือ นางสาวอริสรา ทุ่ยอ้น ร่วมกันจัดทำผลงานหนังสั้น เรื่อง "วินัยที่แม่สอน" โดยมี อาจารย์ ดร.ชยุต อินทร์พรหม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับรางวัลชมเชย ในการประกวดสื่อเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมด้านวินัย ระดับนักเรียน นิสิต/นักศึกษา ภายใต้หัวข้อ "วินัยสร้างชาติ" จัดโดยกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ณ ห้องแกลลอรี 5 อาคารหอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพฯ
#25
ม.อ.ตรัง บูรณาการรายวิชานักศึกษา ออกแบบชุมชน ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.อ. วิทยาเขตตรัง เน้นกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก ส่งเสริมนักศึกษาให้นำความรู้ภาคทฤษฎีและกรณีศึกษา มารวมเข้ากับประสบการณ์จากการเข้าพื้นที่จริง เพื่อเพิ่มความสามารถในการวางแผน ออกแบบ แก้ปัญหา เพื่อนำความรู้ไปใช้งานจริงได้มากที่สุด
อาจารย์คัมภีร์ คล้ามนฤมล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เปิดเผยถึงการพัฒนาการเรียนการสอนของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่เน้นการใช้แนวทางการศึกษาแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์ เน้นกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติและเรียนรู้จากประสบการณ์ในสถานการณ์จริง ผ่านการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการการเรียนและการทำงาน ตลอดจนมีการเสริมสร้างความเข้าใจการเรียนรู้ในพื้นที่จริงในภูมิภาค
เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาจัดการเรียนรู้ดังกล่าว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จึงมีการเปิดสอนรายวิชาที่เกี่ยวข้องเช่น การออกแบบสถาปัตยกรรม และ  สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ที่อาจารย์ประจำวิชาได้เลือกชุมชนในจังหวัดตรังเป็นพื้นที่เข้าศึกษาจริง โดยจากการสำรวจเพื่อออกแบบในรายวิชา การลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากผู้คนในชุมชน ทำให้เห็นความต้องการในการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และนักท่องเที่ยว โดยชุมชนที่เลือกศึกษา เช่น บ้านควนตุ้งกู บ้านตะเสะ บ้านน้ำราบ จังหวัดตรัง ซึ่งมีความสำคัญในฐานะที่เป็นจุดพักถ่ายนักท่องเที่ยวจากบกสู่ทะเล
จากการเข้าพื้นที่เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรม นักศึกษาได้เข้าศึกษาเรื่องหลัก ๆ ของชุมชนทั้งด้านกายภาพ สังคม อาชีพ วิถีชีวิต และนำมาออกแบบเป็นอาคารศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วยอาคารที่สามารถตอบสนองประโยชน์ใช้สอยของคนในชุมชน เช่น ส่วนนิทรรศการ ร้านค้าชุมชน ส่วนแปรรูปอาหารทะเล ส่วนซ่อมเรือประมง ศูนย์ชุมชน พื้นที่สันทนาการชุมชน และส่วนบริการนักท่องเที่ยว และออกแบบบ้านตัวอย่างที่เหมาะสมกับพื้นที่ ในชุมชนบ้านควนตุ้งกู จำนวน 28 ผลงาน และชุมชนบ้านตะเสะจำนวน 37 ผลงาน ส่วนชุมชนบ้านน้ำราบมี 1 ผลงาน
การได้ร่วมออกแบบชุมชนเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยว ทำให้นักศึกษามีความเข้าใจพื้นที่ มองเห็นปัญหา และเห็นแนวทางการนำไปใช้เพื่อให้ก่อประโยชน์แก่ชุมชน ได้สัมผัสถึงมิติต่างๆ ในการพัฒนาพื้นที่โดยกลวิธีของการออกแบบสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต ตลอดจนการทำงานร่วมกับผู้อื่นในชุมชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ การเข้าถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชน ความต้องการ ด้านกายภาพ เศรษฐกิจและสังคม และมองเห็นปัญหาและแนวทางแก้ไขที่มีความเป็นไปได้ โดยการนำความรู้ที่ได้จากการเรียนเข้าสู่กระบวนการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ และเสริมสร้างให้นักศึกษามีจิตสำนึกเรื่องการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อยกระดับชุมชนให้เป็นพื้นที่ที่มีความยั่งยืนต่อไป
#26
วันที่ 13 ตุลาคม  2566  นายเขมญาติ  ยมานันตกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ พร้อมด้วยผู้ปฏิบัติงานโรงไฟฟ้าจะนะ ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล  ณ หอประชุมชวาทอง และพิธีวางพวงมาลา ณ หอประชุมศาลาประชาคมอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
โดยในวันที่ 13 ตุลาคม 2566 เป็นวันแห่งการสวรรคตครบ 7 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  หรือเรียกว่า "สัตตมวรรษ"  เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ  ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้                                   
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า"วันนวมินทรมหาราช" ซึ่งได้พระราชทานพระมหากรุณามีมติเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 รับทราบการกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็น "วันนวมินทรมหาราช" 
โดยกิจกรรมในวันนี้มีนายกฤชณัทท  พลรัตน์  นายอำเภอจะนะ เป็นประธานในพิธี และมีหัวหน้านส่วนราชการประจำอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการสังกัดส่วนกลาง หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารสถานศึกษา  ผู้นำหน่วยกำลังในพื้นที่ นายกเทศมนตรีตำบลทุกแห่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุกตำบล  องค์กรเอกชน เครือข่ายภาคประชาชน  และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกหมู่บ้าน เข้าร่วมกินกรรมอย่างพร้อมเพรียงกัน
#27
โรงไฟฟ้าจะนะ ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอจะนะ และโรงพยาบาลศิครินทร์หาดใหญ่ จัดกิจกรรมแพทย์เคลื่อนที่
ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2566  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงไฟฟ้าจะนะร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอจะนะและโรงพยาบาลศิครินทร์ หาดใหญ่จัดกิจกรรมแพทย์เคลื่อนที่ ประจำปี 2566 พร้อมทั้งให้บริการนวดแผนไทย และการตัดผมจากโรงเรียนเสริมสวยดาวสยาม โดยกำหนดจัดกิจกรรม 3 วัน 3 สถานที่ ในอำเภอจะนะ ดังนี้
10 ตุลาคม 2566 ณ โรงเรียนบ้านป่าชิง ม.1 ตำบลป่าชิง
11 ตุลาคม 2566 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน ม.3 ตำบลตลิ่งชัน
12 ตุลาคม 2566 ณ โรงเรียนตาดีกาบ้านควนหัวช้าง ม.6 ตำบลคลองเปียะ 
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายกฤชณัทท พลรัตน์ นายอำเภอจะนะ ได้เข้าเยี่ยม การดำเนินการจัดกิจกรรมดังกล่าว พร้อมขอบคุณหน่วยงานที่ได้จัดกิจกรรมดีๆ ให้กับพี่น้องชาวอำเภอจะนะ
ทั้งนี้ กฟผ. ต้องขอขอบคุณสาธารณสุขอำเภอจะนะ โรงพยาบาลศิครินทร์ หาดใหญ่ ชมรมนวดแผนไทยนาหม่อม โรงเรียนเสริมสวยดาวสยาม ที่ร่วมกันจัดกิจกรรม ขอขอบคุณผู้ดูแลสถานที่จัดกิจกรรม ได้แก่ โรงเรียนบ้านป่าชิง ม.1 ตำบลป่าชิง องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน และโรงเรียนตาดีกาบ้านควนหัวช้าง ตำบลคลองเปียะ  สำหรับการเอื้อเฟื้อสถานที่
และที่ขาดไม่ได้เจ้าหน้าที่ทุกคนทุกภาคส่วน ตั้งแต่ฝ่ายจัดเตรียมสถานที่ ฝ่ายบริการ ฝ่ายแพทย์ และอาสาสมัครทุกคน ที่ร่วมมือร่วมใจในการทำให้กิจกรรมครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
#28
อพท. จับมือ 5 สถาบันการศึกษา ร่วมหนุนเสริมการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระยะ 4 ปี หวังยกระดับการบริหารจัดการพื้นที่สู่เกณฑ์มาตรฐานสากล GSTC UCCN และ CBT Thailand ชูจุดขายวิถีชีวิตและวัฒนธรรม พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวศักยภาพแห่งใหม่ ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นรับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวของไทย
    นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เปิดเผยว่า วันนี้ (18 กันยายน 2566) อพท. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยลงนามร่วมกับ 5 สถาบันอุดมศึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการสร้างกลไกการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้กับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สถาบันวิชาการ องค์กรชุมชน และองค์กรภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567- พ.ศ. 2570) 
  วัตถุประสงของความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามแนวทางของ  สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council) และกำหนดบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกันให้ครอบคลุมรายละเอียดตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) การร่วมกันขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเมืองที่มีศักยภาพสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) และกำหนดบทบาทหน้าที่ร่วมกันให้ครอบคลุมรายละเอียดตามใบสมัครของยูเนสโก รวมถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนและกำหนดบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนร่วมกันให้ครอบคลุมตามแนวทางมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT Thailand)
    ภายใต้ความร่วมมือนี้ได้ตกลงขอบเขตการทำงานร่วมกัน โดย อพท. และ 5 มหาวิทยาลัย จะร่วมกันประสานงานการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการใช้ศักยภาพของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ อปท. และชุมชนท้องถิ่นจัดให้มีการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ส่งเสริมการจัดทำข้อมูลสารสนเทศและการวิจัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมไปถึงส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่แห่งท้องถิ่นให้ดีขึ้น
    ทั้งนี้ อพท. และมหาวิทยาลัย จะร่วมกันกำหนดรายละเอียดแผนงานและโครงการตามแนวทางการดำเนินงาน ได้แก่ ร่วมกันสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ  ภายใต้งบประมาณที่แต่ละฝ่ายได้รับจัดสรรและภารกิจของหน่วยงาย โดยมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษาและบุคลากร มาร่วมดำเนินงานในแต่ละโครงการ ที่อยู่ในพื้นที่พิเศษหรือพื้นที่เป้าหมายของ อพท.  ภายใต้ความเห็นชอบร่วมกัน  นอกจากนั้น ยังตกลงร่วมกันที่จะร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนรายละเอียดการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ภายใต้บริบทและอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงานอีกด้วย   
    อย่างไรก็ตาม พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ใน 15 อำเภอของ 3 จังหวัด คือ จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันอยู่ในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระยะ 5 ปี มีเป้าหมายยกระดับเมืองที่มีความพร้อมให้เข้าสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก และส่งเสริมให้แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่มีการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนำไปสู่การเสนอเข้ารับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Green Destinations Top 100 Stories
#29
มรภ.สงขลา จัดพิธีลงนามคำรับรองการปฏิบัติราชการขับเคลื่อนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ฯ ปีงบประมาณ พ.ศ.2567             
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ลงนามคำรับรองการปฏิบัติราชการกับคณบดีและผู้อำนวยการสำนัก/สถาบัน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ณ ห้องประชุมอรัญ ธรรมโน ชั้น 8 อาคารอำนวยการ มรภ.สงขลา เพื่อให้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ฯ และแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณบดี ผู้อำนวยการสำนัก/สถาบัน
#30
วันที่ 7 กันยายน 2566 นายเขมญาติ ยมานันตกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานโรงไฟฟ้าจะนะ ร่วมจัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และ ปลูกป่าชายเลน ครั้งที่ 2 ณ บริเวณบ้านท่ายาง หมู่ 3 ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยมีนายกฤชณัทท พลรัตน์ นายอำเภอจะนะ เป็นประธานในพิธี ซึ่งพันธุ์สัตว์น้ำที่ปล่อยเป็นกุ้งแชบ๊วยจำนวน 2,000,000 ตัว และปลูกต้นโกงกางจำนวน 3,000 ต้น โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ ความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างระบบนิเวศให้กับคลองนาทับ
#31
มรภ.สงขลา เข้าร่วมเทศกาลทุเรียนพื้นบ้าน อนุรักษ์ผลไม้ท้องถิ่นใต้ คลินิกเทคโนโลยีลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูล ร่วมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์สงขลามหานครทุเรียนพื้นบ้าน
           มรภ.สงขลา เข้าร่วมกิจกรรมเทศกาลทุเรียนพื้นบ้าน อนุรักษ์ผลไม้ท้องถิ่นใต้ ต.เขาพระ อ.รัตภูมิ คลินิกเทคโนโลยีนำทีมลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูล พร้อมร่วมสนับสนุนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สงขลามหานครทุเรียนพื้นบ้าน
          เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2566 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำโดย รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ น.ส.ปัณฑิตา โชติช่วง ผู้อำนวยการกองกลาง พร้อมด้วย รศ.ดร.คมวิทย์  ศิริธร รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ผศ.อภิชาติ  พันชูกลาง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ ผศ.ขนิษฐา หมวดเอียด รองคณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร
น.ส.เกศสุพร มากสาขา หัวหน้าสำนักงาน สถาบันวิจัยฯ และ น.ส.รัตนาภรณ์ กาญจนเพ็ญ ผู้ประสานงานคลินิกเทคโนโลยี ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมเทศกาลทุเรียนพื้นบ้านเวทีที่ 5 "กินเรียนบ้าน สืบสาน 9 ภูมิปัญญา นำสงขลาสู่มรดกโลก" ณ ศูนย์เรียนรู้ครูภูมิปัญญาเกษตรธรรมชาติธาตุ 4 ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา
           กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประกวดทุเรียนบ้านและเสวนาเกี่ยวกับการอนุรักษ์สายพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านในจังหวัดสงขลา ซึ่งที่ผ่านมาคลินิกเทคโนโลยี มรภ.สงขลา ได้มีการลงพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล สำหรับช่วยในการส่งเสริมอนุรักษ์สายพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านของจังหวัดสงขลา นอกจากนั้น ยังร่วมกับจังหวัดสงขลาในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สงขลามหานครทุเรียนพื้นบ้านต่อไป
#32
คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา ลงนามความร่วมมือ 3 สถานประกอบการ ผนึกกำลังพัฒนาการเรียนรู้แบบบูรณาการกับการทำงาน
          คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา ลงนามความร่วมมือ 3 สถานประกอบการ ผนึกกำลังพัฒนาการเรียนรู้แบบบูรณาการกับการทำงาน เดินหน้าสร้างเครือข่ายส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทุกระดับ ควบคู่พัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย นวัตกรรม พร้อมออกใบประกาศนียบัตรให้ผู้เรียนสำหรับใช้เป็นมาตรฐานปฏิบัติงาน
           วันที่ 10 สิงหาคม 2566 รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาการเรียนรู้แบบบูรณาการกับการทำงานในสถานประกอบการ ระหว่างคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา นำโดย ดร.กันตภณ มะหาหมัด คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กับสถานประกอบการ 3 แห่ง ได้แก่ 1. สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา 2. บริษัท เอ็น.โอ.พี. สุวรรณซัพพลาย แอนด์ เซอร์วิส จำกัด 3. บริษัท เซาท์เทอร์น ซีฟูด โปรดักส์ จำกัด วัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาอุตสาหกรรม พัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่องค์การที่มีสมรรถนะสูง และสร้างเครือข่ายความร่วมมือการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทุกระดับ
           นอกจากนั้น ยังเป็นการประสานความร่วมมือในการจัดการศึกษาตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย ในด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการแก่สังคม ให้สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอน ด้านสหกิจศึกษาและการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน เพื่อส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการ ในการใช้อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนร่วมกันในอนาคต พัฒนาการเรียนรู้และเสริมสร้างประสบการณ์วิชาชีพจากการไปปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ระบบการทำงาน
             ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้องตามหลักและทฤษฎีของสถานประกอบการ โดยมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการจัดให้มีการเรียนการสอนที่ได้คุณภาพ และสามารถพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ออกใบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้เรียนหรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงานต่อไปได้
#33
หลักสูตรประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ลงนามความร่วมมือคณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.ทักษิณ ผนึกกำลัง 4 มหาวิทยาลัยเครือข่ายในภาคใต้ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการเรียนการสอน การวิจัย ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
            เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ดร.รัชชพงษ์ ชัชวาลย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำทีมคณาจารย์หลักสูตรประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม นำโดย ผศ.วสิน ทับวงษ์ ประธานหลักสูตรฯ และคณาจารย์ในหลักสูตร ได้แก่ ดร.กัลย์วดี เรืองเดช ผศ.ปิยกุล จันทบูรณ์ อ.นันทยา ศรีวารินทร์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณโดยมี ผศ.ดร.ปาริฉัตร ตู้ดำ คณบดี ร่วมทำความร่วมมือกับเครือข่ายประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยาและสังคม วิทยาภาคใต้
            นอกจากนั้น ยังมีเครือข่ายความร่วมมืออีก 4 หน่วยงานคือ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการเรียนการสอน การวิจัย การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
#34
กฟผ.จะนะ ร่วมพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระบรมราชนนีพันปีหลวง
วันที่ 12 สิงหาคม 2566 นายเขมญาติ   ยมานันตกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ พร้อมด้วยผู้ปฏิบัติงานโรงไฟฟ้าจะนะ ร่วมกิจกรรมพิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม และพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวงเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2566  ร่วมพิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม และถวายพระพรชัยมงคล  ณ หอประชุมศาลาประชาคมอำเภอจะนะ  โดยมีนายกฤชณัทท  พลรัตน์  นายอำเภอจะนะ เป็นประธานในพิธี   ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการประจำส่วนกลาง หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ  ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้นำหน่วยกำลังในพื้นที่  นายกเทศมนตรีทุกแห่ง  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุกตำบล  องค์กรเอกชน  เครือข่ายภาคประชาชน  ปลัดอำเภอ  และกำนันผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
#35
มรภ.สงขลา จัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์' 66 "อัตลักษณ์ท้องถิ่น สืบศิลป์สู่มรดกโลก" สืบสานเอกลักษณ์รากแก้วของแผ่นดิน สะท้อนวิถีถิ่นใต้
           มรภ.สงขลา จัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2566 ชูจุดเด่น "อัตลักษณ์ท้องถิ่น สืบศิลป์สู่มรดกโลก" จัดเต็มศิลปะการแสดงภาคใต้อย่างโนรา หนังตะลุง ลิเกป่า พร้อมเดินหน้ามหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น สะท้อนวิถีชีวิตอันดีงาม สืบสานเอกลักษณ์รากแก้วของแผ่นดิน
            เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เป็นประธานในพิธีเปิดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2566 "อัตลักษณ์ท้องถิ่น สืบศิลป์สู่มรดกโลก" จัดพิธีเปิด โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-20 สิงหาคม 2566 ณ บริเวณรอบเกาะลอย มรภ.สงขลา วัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านศิลปะและวัฒนธรรม
            ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายกสภา มรภ.สงขลา กล่าวว่า วัฒนธรรมเป็นรากเหง้าของสังคม ตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น และประเทศชาติ วัฒนธรรมจึงเป็นรากเป็นฐานที่แสดงถึงวิถีชีวิตอันดีงาม ที่เป็นเครื่องแสดงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น วัฒนธรรมเป็นพื้นฐานของอารยธรรม ซึ่งหมายถึงความเจริญด้วยขนบธรรมเนียมอันดี ทว่า ในกระแสแห่งการพัฒนาเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเทคโนโลยี ทำให้วัฒนธรรมและอารยธรรมนานาชาติหลั่งไหลและแทรกซึมเข้าถึงกันอย่างรวดเร็ว สถาบันการศึกษาจึงต้องสถาบันหลักในการธำรงรักษาวัฒนธรรมและอารยธรรมของชาติ พร้อมทั้งหาแนวทางในการส่งเสริมให้เลือกปรับเปลี่ยนอย่างชาญฉลาดในการรักษาความเป็นชุมชน สังคมชาติ และพัฒนาชีวิตอย่างสอดคล้องกับสังคมโลก
             การจัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2566 จึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ได้ร่วมกันศึกษา ทำนุบำรุง และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอย่างหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหากเป็นไปได้อยากให้เพิ่มความถี่ในการจัดงานด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมให้มากขึ้น จากเดิมที่จัดปีละครั้งอาจจัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน เพราะแม้แต่ชาวต่างชาติก็ชื่นชมศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของไทย ดังจะเห็นได้จากส่วนหนึ่งในการจัดงานครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีวัฒนธรรมที่หล่อหลอมมาอย่างยาวนานจนเป็นอัตลักษณ์ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของคนภาคใต้ เช่น วัฒนธรรมด้านอาหาร การแสดงพื้นบ้าน โนรา หนังตะลุง ลิเกป่า และอื่นๆ อันจะเป็นช่องทางให้นักศึกษาและประชาชนได้มองเห็นช่องทางในการเลือกสรรนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้ต่อไป
            ด้าน รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า มรภ.สงขลา เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มีพันธกิจในการส่งเสริม เผยแพร่ อนุรักษ์ สืบสานและสร้างสรรค์ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นและของชาติ โดยได้จัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2531 บัดนี้ได้จัดมาเป็นเวลายาวนาน 35 ปี กลายเป็นต้นแบบการจัดงานทางวัฒนธรรมของหน่วยงานต่างๆ อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งการจัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์นอกจากเพื่อส่งเสริมภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในลักษณะต่างๆ อาทิ การคัดเลือกผู้มีผลงานดีเด่นด้านด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น "ปิตาภรณ์แผ่นดิน" การแสดงของเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ การจัดแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน 4 ภาคของประเทศไทย พิธีบวงสรวงและสักการะทวดช้าง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาว มรภ.สงขลา และชาว ต.เขารูปช้าง มหกรรมหนังตะลุง "หนังดาวรุ่ง ตะลุงราชภัฏ"
            นอกจากนั้น ยังมีการประกวดทำอาหารพื้นถิ่น สำรับลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา แกงสมรม ขนมต้ม และเต้าคั่ว (สลัดทะเลสาบสงขลา) กิจกรรมสาธิตพิธีกรรมโนราโรงครู ซึ่งบูรณาการร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา นิทรรศการภาพถ่าย "โนรา มรดกภูมิปัญญาของมนุษยชาติ" และ "แหล่งโบราณคดีในจังหวัดสงขลา" นิทรรศการชุมชนต้นแบบ มรภ.สงขลา นิทรรศการและการสาธิตผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม การแสดงและจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองและสินค้าทั่วไป โดยการจัดงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนด้วยดีจากเครือข่ายภาครัฐและเอกชน
#36
ทรงพระเจริญ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๖

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล
พนักงาน-เจ้าหน้าที่ และพสกนิกรชาวเทศบาลเมืองคอหงส์
#37
ทรงพระเจริญ

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๖

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และศิษย์เก่า
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

#PSU
#PSUConnext
#มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
#38
คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา เปิดทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 รับสมัครตั้งแต่บัดนี้-31 ก.ค. 6
คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา เปิดทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 พร้อมออกใบประกอบวิชาชีพจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สมัครได้ตั้งแต่บัดนี้-31 ก.ค. 2566
หน่วยทดสอบความรู้ความสามารถสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 เพื่อออกใบประกอบวิชาชีพจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เอกสารประกอบการสมัคร ประกอบด้วย 1. ใบสมัคร พร้อมรูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 3 รูป 2. สำเนาวุฒิการศึกษา หรือ หนังสือรับรองการทำงาน 1 ฉบับ 3. สำเนาบัตรประชาชน 1 ฉบับ 4. สำเนาทะเบียนบ้าน 1 ฉบับ
ผู้ประกอบอาชีพช่างไฟฟ้าและประชาชนทั่วไป ค่าสมัคร 500 บาท นักศึกษา มรภ.สงขลา ค่าสมัคร 250 บาท ผู้สนใจสามารถยื่นใบสมัครและชำระค่าสมัคร ณ ห้องสำนักงานคณบดี ชั้น 2 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา ได้ตั้งแต่บัดนี้-31 กรกฎาคม 2566 ลิงก์รับสมัคร : https://me-qr.com/clGHkQ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายนราวุธ ทองคำ โทร. 08-6693-6468 หรือ 0-7426-0270
#39
วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 นายจิตวัต วงศ์วาสนา  หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์โรงไฟฟ้าจะนะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยผู้ปฏิบัติงานโรงไฟฟ้าจะนะ ร่วมสนับสนุนรถมินิไฟฟ้าเพื่อต้อนรับนายเอกชัย  เลิศวิบูลย์ลักษณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา  ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการ พร้อมด้วยคณะกรรมการคัดสรรกิจกรรมพัฒนาชุมชนดีเด่น ประจำปี 2566 ประเภท"ตำบลเข้มแข็งตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" โดยมีนายกฤชณัทท พลรัตน์ นายอำเภอจะนะกล่าวต้อนรับคณะกรรมการ  และมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าหมอไทร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในตำบลท่าหมอไทร รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
#40
มรภ.สงขลา นำ นศ. สร้างบ้านปลา-ปลูกเตยทะเล ช่วยชุมชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
มรภ.สงขลา นำนักศึกษาลงพื้นที่บ้านบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว จับมือชุมชนสร้างบ้านปลา(ซั้งกอ) ควบคู่ปลูกเตยทะเล แก้ไขปัญหาขยะ หวังมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพิ่มพื้นที่บริเวณชายหาด
             เมื่อวันที่  1 กรกฎาคม 2566 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดกิจกรรมวิศวกรสังคม เรื่อง "การสร้างบ้านปลา (ซั้งกอ)" ณ หาดบ่ออิฐ หมู่ที่ 8 ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โดย อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มรภ.สงขลา พร้อมด้วย อาจารย์จิราภรณ์ กวดขัน ผู้ช่วยอธิการบดี นายอาริยะวัฒน์ ชำนาญกิจ นายกองค์การนักศึกษา ภาคปกติ และนักศึกษา มรภ.สงขลา ร่วมกับคนในชุมชนร่วมกันสร้างบ้านปลา (ซั้งกอ) และทดลองปลูกเตยทะเล เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เพิ่มพื้นที่บริเวณชายหาด สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ และแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ นอกจากนั้น ยังได้ช่วยกันเก็บขยะรอบหาดบ่ออิฐ โดยมุ่งหวังให้ให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำการประมง และชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล
            ในการนี้ นายยุดี หมัดเจริญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ตำบลเกาะแต้ว ได้บรรยาย เรื่อง ขั้นตอนการสร้างบ้านปลา (ซั้งกอ) และนำนักศึกษาฝึกปฏิบัติทำบ้านปลา เนื่องจากปัจจุบันพบว่าแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน (บ้านปลาหรือซั้งกอ) เกิดการเสื่อมโทรมและชำรุดไปตาม ส่งผลกระทบให้สัตว์น้ำมีพื้นที่หลบซ่อนตัวในช่วงวัยตัวอ่อนไม่เพียงพอ และพันธุ์สัตว์น้ำมีจำนวนลดน้อยลง ดังนั้น การจัดสร้างซั้งกอและการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่เขตอนุรักษ์ จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่งทะเล ให้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
            อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มรภ.สงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกใช้ไปอย่างขาดประสิทธิภาพ จึงอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลทั้งต่อต้นทุนการผลิตสินค้าบริการและสร้างผลเสียต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ประมงของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่อย่างสิ้นเปลืองและล้างผลาญ โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือประมงที่ผิดประเภท เช่น อวนลาก อวนรุน โพงพาง ซึ่งทำให้ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย และสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ยังไม่เจริญพันธุ์ได้คราวละมาก ๆ ทะเลถูกทำร้ายโดยผู้คน ถูกทำลายด้วยเทคโนโลยี หรือความทันสมัยของสังคมโลกยุคใหม่ ทำให้ทะเลไทยทั้ง 2 ฝั่ง รวมทั้งทะเลสาบสงขลาเข้าสู่วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ปลาเหลือน้อย น้ำเสีย ตื้นเขินเพราะเป็นที่รองรับสิ่งปฏิกูล น้ำเสียจากบ้านเรือน ในชุมชน ตัวเมือง โรงงานอุตสาหกรรมโดยรายรอบบริเวณ
           ด้าน นายอาริยะวัฒน์ ชำนาญกิจ นายกองค์การนักศึกษา ภาคปกติ กล่าวว่า แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน (บ้านปลาหรือซั้งกอ) เกิดการเสื่อมโทรมและชำรุด เนื่องจากได้จัดทำขึ้นในระยะเวลาที่ยาวนาน ส่งผลกระทบให้สัตว์น้ำมีพื้นที่หลบซ่อนตัวในช่วงวัยตัวอ่อนไม่เพียงพอ และพันธุ์สัตว์น้ำมีจำนวนลดน้อยลง การจัดสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนและการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่เขตอนุรักษ์ ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่งทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่งทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์น้ำมีพื้นที่หลบซ่อนตัวในช่วงวัยอ่อน ก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชนในบริเวณนั้นด้วย และช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศที่ถูกทำลายไปให้กลับมาสวยงามมากขึ้น
          อีกทั้งปัญหาขยะในแหล่งน้ำธรรมชาติจัดเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่ขาดการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและรูปแบบพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนส่งผลให้ปัญหาขยะมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น มีการปล่อยขยะลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก ซึ่งขยะนั้นส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญเกิดความเปลี่ยนแปลง ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ทั้งของสัตว์ทะเลและมนุษย์ที่ได้รับบาดเจ็บจากขยะบริเวณริมชายฝั่ง ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำหายากและใกล้สูญพันธุ์ที่มีสาเหตุการตายมาจากการกินขยะ ตลอดจนส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว