SongKhla Media

SongkhlaMedia News => ข่าวสงขลา => หัวข้อที่ตั้งโดย: สงขลามีเดีย เมื่อ 09:59 น. วันที่ 12 09 62

ชื่อ: ตรวจสอบโครงการก่อสร้างริมคลอง30เมตร เมื่อไหร่จะกลับมาเหมือนเดิม?
โดย: สงขลามีเดีย เมื่อ 09:59 น. วันที่ 12 09 62
ตรวจสอบโครงการก่อสร้างริมคลอง30เมตร เมื่อไหร่จะกลับมาเหมือนเดิม?   

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการขุดวางท่อระบายน้ำเสียใต้คลอเลียบถนนราษฎร์ยินดี หรือที่เรียกกันติดปากว่าคลอง30เมตร โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และเทศบาลนครหาดใหญ่ สทบ 10% รวมงบประมาณ 110 ล้านบาท ตตามสัญญาจ้างเริ่มดำเนินโครงการ 16 มกราคม 2560 สิ้นสุดสัญญา 10 เมษายน 2561

ณ ปัจจุบัน 11 กันยายน 2562 โครงการยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน ถนนเลี้ยบคลอง30เมตรฝั่งในได้รับความเสียหายจำนวนมาก คลอง30เมตรน้ำแทบระบายไม่ได้ในขณะที่หาดใหญ่กำลังก้าวสู่ช่วงฤดูฝนแล้วแต่ยังไม่มีการขยับเขยื้อนใดๆ จนชาวโซเชียลตั้งคำถามากมาย และทำให้สส.ศาสตรา ศรีปาน เขต2 เจ้าของพื้นที่ขยับทำงานลงตรวจสอบและยื่นหนังสือถึง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา ซึ่งเป็นกระทรวงเจ้าของงบประมาณทำให้เทศบาลนครหาดใหญ่ เจ้าของพื้นที่เริ่มขยับมากขึ้น ได้มอบหมายให้นายธนเดช อินขวัญ ผู้อำนวยการส่วนช่างสุขาภิบาล รักษาการผู้อำนวยการสำนักการช่าง ชี้แจงเหตุความล่าช้าของโครงการดังกล่าว

สรุปให้เข้าใจง่ายแบบภาษาชาวบาวบ้านจากการพูดคุยและคำชี้แจงจากเอกสาร โครงการนี้เป็นการก่อสร้างท่อรวบรวมและระบายน้ำเสียฝังไว้ใต้คลอง30เมตร เริ่มตั้งแต่แยกอู่ญี่ปุ่น (แยกศรีภูวนารถ) ไปจนถึงคลองเตย รวมระยะทาง 2,000เมตร โดยแบ่งเป็นวิธีขุดเปิด 1,700เมตร และวิธีดันลอด 300เมตร แต่เมื่อดำเนินการขุดคลองไปแล้วปรากฎว่าส่งผลให้ผนังคันคลองที่ก่อสร้างมานานแล้วพังรวมถึงเกิดท่อประปาแตก ส่งผลเสียหายต่อถนนเลียบคลอง30เมตรสายในโดยเฉพาะช่วงใกล้แยกอู่ญี่ปุ่น เสียหายมากที่สุด ขณะที่การสร้างด้วยวิธีดันลอดซึ่งใช้กับบริเวณใต้สะพานข้ามคลองไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของคลองแต่อย่างใด

เมื่อการก่อสร้างไม่สามารถดำเนินการตามแบบแปลนเดิมได้จึงจำเป็นต้องมีการนำเสนอการก่อสร้างรูปแบบใหม่คือ ใช้วิธีการสร้างแบบดันลอดทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เวลาเขียนแบบและนำเสนอต่อเจ้าของบประมาณคือกระทรวงทรัพฯ อนุมัติโครงการซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนาน และในการก่อสร้างรูปแบบดังกล่าวต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 36 ล้านบาท โดยทางเทศบาลยืนยันว่าตอนนี้รอเพียงส่วนกลางอนุมัติการก่อสร้างรูปแบบใหม่มาก่อนหากไม่มีงบมาให้ก็พร้อมจะนำงบเทศบาลมาใช้เพื่อให้การดำเนินโครงการได้รวดเร็วที่สุด

สำหรับความเสียหายของถนนเลียบคลอง30เมตรสายในนั้น ได้รับการชี้แจงว่าเกิดจาก 2 ส่วนคือ การวางท่อน้ำเสียดังกล่าวและเกิดจากการวางท่อใหม่ของของการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งในส่วนของการขุดวางท่อประปาดำเนินการเสร็จแล้วพร้อมที่จะดำเนินการคืนผิวจราจรได้ในเร็วๆ นี้ ส่วนพื้นที่เสียหายมากที่แยกอู่ญี่ปุ่นจะเร่งรัดผู้รับเหมาให้คืนผิวจราจรให้เร็วที่สุด ส่วนการระบายน้ำคลอง30เมตร เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบกับช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงโดยจะมีการขุดลอกคลองในเร็วๆนี้ นี่คือบทสรุปจากทีมข่าวเว็บกิมหยง ส่วนคลอง30เมตร เมื่อไหร่จะกลับมาเหมือนเดิม? ได้รับคำตอบเพียงว่าจะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด   

คำชี้แจงจากเทศบาลทั้งหมดมีดังนี้ นายธนเดช อินขวัญ ผู้อำนวยการส่วนช่างสุขาภิบาล รักษาการผู้อำนวยการสำนักการช่าง เทศบาลนครหาดใหญ่ ได้รับมอบหมายจากนายอมร วงศ์วรรณ ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ นำคณะสื่อมวลชนดูพื้นที่การวางท่อรวบรวมน้ำเสียพร้อมบ่อพัก โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเทศบาลนครหาดใหญ่ บริเวณถนนราษฎร์ยินดีที่ได้หยุดดำเนินการก่อสร้างไป เพื่อสร้างความเข้าใจและแจ้งผลการดำเนินงานที่ได้ทำไปแล้วว่าอยู่ในช่วงไหน ให้ประชาชนในเขตเทศบาลนครและประชาชนที่สัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าวได้เข้าใจ

เนื่องโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเทศบาลนครหาดใหญ่นี้ ได้รับงบประมาณจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 110 ล้านบาท และเทศบาลนครหาดใหญ่สมทบเงินงบประมาณจำนวน 10% ของโครงการ โดยมีจุดประสงค์เพื่อก่อสร้างท่อรวบรวมน้ำเสียแบบ HDPE ขนาด 1 เมตร ,บ่อพัก พร้อมอาคารดักน้ำเสียระยะทางรวม 2,000 เมตร ตลอดแนวใต้รางระบายน้ำถนนราษฎร์ยินดี เพื่อรวบรวมน้ำเสียในบริเวณดังกล่าว เข้าสู่ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งมี บริษัท ไทยดีลเลอร์ ไพพ์ จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560 และได้หยุดการก่อสร้างไปตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เนื่องจากมีผลกระทบจากการก่อสร้างไปแล้วประมาณ 800 เมตร

โดยแบ่งเป็นใช้วิธีขุดเปิด (Open Cut) ประมาณ 500 เมตร และเป็นวิธีการดันลอด(Pipe jacking) ใต้สะพานประมาณ 300 เมตร ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีก่อสร้างโดยการขุดเปิดหน้าดินและรื้อคอนกรีตดาดคลองเพื่อวางท่อใต้ท้องคลองริมถนน ราษฎรยินดี ปัญหาเกิดจากการทรุดตัวของผนังด้านข้าง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นชั้นทราย แม้ว่าทางผู้ก่อสร้างได้มีการตอก chip pile แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดการทรุดตัวของผนังได้ ทางผู้ควบคุมงาน คณะกรรมการตรวจการจ้าง, บริษัทปรึกษาและควบคุมงาน และเทศบาลนครหาดใหญ่ ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบจากการก่อสร้างโดยวิธีขุดเปิด (Open cut)

ซึ่งวิธีดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายบริเวณหน้างาน บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย และได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการก่อสร้างจากวิธีขุดเปิด (Open cut) มาเป็นวิธีดันท่อลอด (Pipe jacking) มีระยะทางประมาณ 1,179 เมตร จึงมีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบรายการปริมาณงานโครงการฯ เพื่อจัดทำเอกสารเปรียบเทียบราคาค่าก่อสร้าง โดยอ้างอิงจากราคาเดิมซึ่งกำหนดไว้ในสัญญา โดยลดปริมาณงานที่เกี่ยวข้องกับวิธีการก่อสร้างโดยวิธีขุดเปิดท้องคลองจำนวน 1,700 เมตร (รวมบ่อพัก) และปรับเปลี่ยนเป็นวิธีการก่อสร้างโดยวิธีการดันท่อลอด (Pipe jacking) ซึ่งเทศบาลได้อ้างอิงราคาค่าดันท่อลอดจากราคาในสัญญาเดิม การอ้างอิงดังกล่าวเป็นการอ้างอิงอย่างเป็นธรรมไม่ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย งบประมาณเพิ่มขึ้นจากสัญญาเดิมเป็นเงิน 36,698,267.83 บาท

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 เทศบาลนครหาดใหญ่เข้าชี้แจงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการก่อสร้างวางท่อรวบรวมน้ำเสีย จากวิธีขุดเปิดมาเป็นวิธีดันลอดท่อ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย ต่อคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการเพื่อการจัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ พ.ศ.2559 ผลการพิจารณาสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการฯ อนุมัติให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสร้างตามที่เทศบาลนำเสนอ ขณะนี้รอเอกสารยืนยันจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการ

ดังนั้น ทางคณะผู้บริหารเทศบาลนครหาดใหญ่ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ติดตามผลความคืบหน้าการพิจารณาผลอนุมัติจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการตลอดระยะเวลา จึงขออภัยในความไม่สะดวกในการใช้เส้นทางสัญจรตลอดแนวทางระบายน้ำถนนราษฎร์ยินดีในครั้งนี้ด้วย เมื่อได้รับการอนุมัติการก่อสร้างแบบใช้วิธีดันท่อรอดเรียบร้อยแล้ว จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จพร้อมกับการคืนผิวจราจรโดยเร็ว