SongKhla Media

SongkhlaMedia Talk => สงขลาสนทนา => หัวข้อที่ตั้งโดย: สงขลามีเดีย เมื่อ 13:49 น. วันที่ 27 12 61

ชื่อ: นางเงือก สัญลักษณ์แห่งสงขลาคุณค่าคู่หาดสมิหลา
โดย: สงขลามีเดีย เมื่อ 13:49 น. วันที่ 27 12 61
53 ปีนางเงือกทอง สัญลักษณ์แห่งสงขลาคุณค่าคู่หาดสมิหลา (2509-2562)

รูปปั้นนางเงือก ถ้าเป็นคนสงขลา คนเคยมาเที่ยวสงขลา หรือคนที่พอรู้จักจังหวัดสงขลา เชื่อว่าทุกคนจะรู้จักนางเงือก นางเงือกทองสาวสวยในท่านั่งหวีผมบนโขดหินริมหาดสมิหลา ชายทะเลอันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสงขลา นางเงือก ถูกสร้างให้อยู่คู่หาดสมิหลามาตั้งแต่วันที่ 1เมษายน 2509 ในยุคจังหวัดสงขลา มีผู้ว่าราชการจังหวัดชื่อ หม่อมเจ้าทองคำเปลว ทองใหญ่

จากปี 2509 จวบจนปัจจุบัน แทบไม่น่าเชื่อว่านางเงือกจะคงทนสวยงามคู่เมืองสงขลาได้ยาวนานเช่นนี้ โขดหินที่อยู่ติดทะเล บางปีก็คลืนลมแรง ฝนตักหนัก พายุพัดกระหน่ำ พื้นที่ชายทะเล ชายหาดได้รับความเสียหาย แต่แทบไม่มีข่าวคราวความเสียหายเกี่ยวกับนางเงือกเลย จนมีผู้คนบางคนคิดว่านางเงือกศักสิทธิ์เลยมีการนำผ้ามาถูก มาลัยมาคล้อง สิ่งของมาถวาย แต่ถูกปรามเพราะอากให้ผู้คนได้มองเห็นนางเงือกในสัญลักษณ์ทางการท่องเที่ยวมากกว่า

ถ้ามาถึงสงขลาแล้วไม่ได้เยือนหาดสมิหลาย่อมถือว่ามาไม่ถึง เพราะที่นี่คือซิกเนอเจอร์ของเมืองสงขลาที่ทุกคนต้องมาแวะถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก หาดสมิหลาเป็นชายหาดที่มีโขดหินขนาดย่อมยื่นลงทะเล ทรายขาวละเอียดมากที่เรียกว่า "ทรายแก้ว" ร่มรื่นด้วยป่าสน และจากหาดสมิหลายังสามารถมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของเกาะหนูเกาะแมว อีกทั้งบริเวณหาดยังมีสัญลักษณ์ที่มีชื่อเสียง นั่นก็คือ รูปปั้นนางเงือกทอง ที่ทุกคนต้องแวะมาถ่ายภาพเก็บไว้

รูปปั้น นางเงือกทอง ตามประวัติสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2509 โดยความคิดริเริ่มของ นายชาญ กาญจนาคพันธุ์ ปลัดจังหวัดสงขลา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครสงขลา ในสมัยนั้น เงือก ความหมายโดยทั่วไปที่คนจะนึกถึงคือ หญิงสาวที่มีร่างกายท่อนล่างเป็นปลา อาศัยอยู่ในน้ำ เรื่องเล่าของนางเงือกนั้น ยังมีการกล่าวถึงไว้มากมายในหลายประเทศทั่วโลก แม้แต่ประเทศไทยก็มีการกล่าวถึงนางเงือกไว้ในบทประพันธ์ต่างๆ อีกด้วย เรื่องที่รู้จักกันแพร่หลายมากที่สุด คือ เงือกในเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ กวีในสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

จากแผ่นจารึกที่ประติมากรรมนางเงือกทอง กล่าวไว้ว่า " รูปปั้นนางเงือกนี้ สร้างขึ้นในปี 2509 ตามดำริของ นายชาญ กาญจาคพันธุ์ ปลัดจังหวัดสงขลา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสงขลาด้วย โดยให้ อาจารย์ จิตร บัวบุศย์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเพาะช่าง เป็นผู้ปั้นหล่อจากบรอนขรมดำ โดยใช้งบประมาณของเทศบาล 60,000 บาท ตั้งชื่อว่า " เงือกทอง" (GoldenMermaid) เป็นสัญลักษณ์ของแหลมสมิหลามาจนทุกวันนี้

ตำนานหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับนางเงือก มีมากมาย อาทิ นางเงือก เป็นนางในวรรณคดีไทย เรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ เอกกวีสมัยรัชกาลที่ 2 ( พ.ศ. 2352 - 2367 ) นางเงือก ปรากฎนิทานปรัมปราไทยเรื่องหนึ่งว่า "ในคืนท้องฟ้างาม ณ ชายหาดสวยแห่งหนึ่ง จะมีนางเงือกขึ้นจากทะเลมานั่งหวีผมอยู่ คืนหนึ่งมีชายหนุ่มชาวประมงไปพบเข้า นางเงือกตกใจหนีลงน้ำไป ทิ้งหวีทองคำไว้ ชาวประมงผู้นั้นเฝ้าแต่รอคอย แต่นางเงือกก็ไม่ปรากฏตัวอีกเลย"

ส่วนเรื่องเล่าของนางเงือกหาดสมิหลา ยังมีอีกหลายเรื่อง อาทิ เชื่อกันว่าถ้าชายใดได้มาจับนมนางเงือกที่สมิหลาแล้ว ก็จะได้คู่ครองเป็นคนสงขลา นอกจากนี้ทางขนส่งจังหวัดสงขลา ยังได้นำนางเงือกหาดสมิหลา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด ให้อยู่ในป้ายทะเบียนประมูลของจังหวัดสงขลา อีกด้วย

ปัจจุบัน(พ.ศ.2562) เงือกทอง ก็มีอายุกว่า 53 ปี ผ่านแดด ผ่านฝน ผ่านมรสุม อยู่คู่เมืองสงขลามาอย่างยาวนาน ผู้คนมากมายแวะเวียนมาถ่ายรูปเก็บภาพความประทับใจ ว่าครั้งหนึ่งเคยได้มาเยือนสงขลา แม้จะเวลาผ่านไปนานเท่าไร เงือกทอง หาดสมิหลา ซึ่งเปรียบเสมือนห้องรับแขกธรรมชาติก็จะรอต้อนรับผู้ที่มาเยี่ยมเยือนจังหวัดสงขลาตลอดไป

ต้อม รัตภูมิ รายงาน
ชื่อ: Re: นางเงือก สัญลักษณ์แห่งสงขลาคุณค่าคู่หาดสมิหลา
โดย: aekapong123456 เมื่อ 14:42 น. วันที่ 25 01 62
ขอบคุนจ้าาาา :M  ufabet (https://ufabet-group.com/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8Cufabet)